เมืองน่าน ไปเยี่ยมเยือนกี่ครั้งก็ไม่เคยเบื่อ ยิ่งได้ร่วมทริปกันกับหมู่คณะใหญ่เกิน 300 ชีวิต ทั้งเครือข่ายท่องเที่ยวจากภาคเหนือตอนล่างและภาคเหนือตอนบน ก็ยิ่งสำเริงสำราญอารมณ์ โดยเฉพาะทริปนี้ค่ะ “สหพันธ์สัญจรครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ทริปเมืองน่าน” สัญญาใจที่สมาชิกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ 17 จังหวัด หรือ สสทน.ลำพูน ทุกคนตั้งตาคอยมานานหลายเดือนแล้ว
วันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2567 ได้ฤกษ์เสียที โดยทาง “เสธหลอด” พันเอกวัฒนา จันทร์ไพจิตร ตัวแทน สสทน.น่าน ผู้ประสานงานกับทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้จัดโปรแกรมที่มีสีสันเร้าใจยิ่งนัก ตั้งแต่เที่ยงวันแรก (คือวันที่ 21 กพ) + 1 คืน กับอีกครึ่งเช้าของวันที่สอง (22 กพ) ได้อย่าง “เยี่ยมยอด” และ “แยบยล” จนน่าประทับใจ จำเป็นต้องขอบันทึกรายละเอียดของเส้นทางทริปนี้ไว้ เพื่อให้ผู้สนใจสามารถใช้เป็นต้นแบบในการตามรอยโปรแกรมทัวร์ได้ในครั้งต่อๆ ไป
ส่วนอีกครึ่งหลังของทริป “รักน่านนานนาน” นั้นเป็นการจัดโปรแกรมเสริมของดิฉัน มอบเป็นของกำนัลแก่เพื่อนสมาชิก สสทน.ลำพูนต่อ หลังจากการร่ำลาเพื่อนพ้องน้องพี่ 300 คน 17 จังหวัด ที่แสงทองรีสอร์ตในช่วงบ่ายวันที่ 2 (22 กพ) พวกเราก็ยาวต่อถึงวันที่ 23 กพ
รวมตัวรวมใจกันที่น่านกรีนเลควิว
โรงแรมน่านกรีนเลควิวรีสอร์ต คือจุดนัดพบลงทะเบียนของสมาชิก สสทน. 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยนายกสมาคมเข้าประชุมกันก่อนในช่วง 10.00-12.00 น. และระหว่างนั้น เพื่อนสมาชิกเดินชมกาดหมั้วเลือกซื้อสินค้าของดีเมืองน่าน จากนั้นรับประทานอาหารกลางวัน เพื่อเตรียมเดินทางไปทริปต่อในภาคบ่าย
ทริปภาคบ่าย เริ่มต้นด้วยการฟังบรรยายสรุปว่าทำไมในเขตเมืองเก่าน่านจึงโดดเด่นและได้รับรางวัลมากมายด้านการท่องเที่ยว โดยนายกเทศมนตรีเมืองน่าน คุณสุรพล เธียรสูตร จากนั้นคณะเดินทางไปนั่งรถรางชมเมืองแบบ City Tour โดยแวะลงถ่ายรูป “กระซิบรัก” ปู่ม่านย่าม่าน ณ วัดภูมินทร์ ตามติดด้วยการไปกราบพระธาตุแช่แห้ง
ช่วงค่ำ คณะหวนกลับมา Dinner Party กันอีกครั้ง ณ สถานที่เดิม โรงแรมน่านกรีนเลควิวรีสอร์ต ในงานสังสรรค์เพื่อนสมาชิกอาคันตุกะกว่า 300 คน กับเครือข่ายท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดน่านอีกเกือบ 100 คน งานนี้ได้รับเกียรติจาก ท่านชัยนรงค์ วงค์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดงาน พร้อมแขกเหรื่อจาก ททท. ทกจ. อบจ. ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทั้งระดับภูมิภาค ระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น ในหัวข้อที่ทางน่านตั้งชื่อว่า “ใกล้ไกลไม่สำคัญ ความสัมพันธ์มั่นคง”
เมืองปัวชาติพันธุ์หลายหลาก
จากไทลื้อสู่อิ้วเมี่ยน
เช้าวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 คณะของพวกเราเดินทางไปยังอำเภอปัว จุดแรกคือวัดร้องแง วัดสวยงามไม่มีที่ติ ศูนย์รวมพี่น้องชาวไทลื้อแหล่งใหญ่ มีการฟ้อนต้อนรับของสาวงาม การจัดพิธีสืบชาตาแบบลื้อ จากนั้นเดินทางไปยัง “ดอยซิลเวอร์” หรือ “ซิลเวอร์แฟคตอรี่” แหล่งผลิตเครื่องเงินคุณภาพดีของพี่น้องอีกชาติพันธุ์หนึ่งคือ “ชาวอิ้วเมี่ยน” (เย้า)
ณ ที่นี้มีการจัดพิธีต้อนรับคณะด้วยการให้เราคล้องไข่ต้มคนละฟ้อง (ไข่ต้มมีสีเข้มเพราะต้มกับใบชา) กับรับเส้นเชือกสีแดงคนละเส้น แล้วเดินตามคณะนักดนตรีข้ามสะพานชื่อ “โก้งต๊ะเจี้ยว” เอาเชือกไปผูกบนสะพานสีแดง แล้วเดินวนรอบบึงน้ำ โดยห้ามเดินย้อนถอยหลังกลับไปจุดเดิม
“ไข่ต้ม” หมายถึงมิตรไมตรี ความห่วงใยในเรื่องสุขภาพของอาคันตุกะ, ความหมายของชื่อสะพาน “โก้งต๊ะเจี้ยว” หมายถึง สะพานบุญหรือสะพานแห่งความดี โดยมาจากรากศัพท์ 2 คำ ได้แก่ โก้งต๊ะ แปลว่า บุญญาบารมี, ความดี และ เจี่ยว/เจี้ยว แปลว่า สะพาน หรือ ทางสู่บุญ
คณะเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวันที่ “แสงทองรีสอร์ต” อ.เชียงกลาง จุดที่มี “กล้วยแขก-กลอยทอดแสนอร่อย” เจ้าของชื่อ คุณชาญชัย ลิ้มสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวน่าน อีกหนึ่งพ่องานหลักเคียงบ่าเคียงไหล่กับเสธหลอด
เมื่อสมาชิกแต่ละจังหวัดแยกย้ายกันไปแล้ว ทีม สสทน.ลำพูน 60 ชีวิต + พขร. รถตู้อีก 6 คัน รวม 66 ชีวิต ยังไม่กลับลำพูน แต่เราตั้งใจจะไปนอนชมฟ้าใสที่บ่อเกลือ จำเป็นต้องย้อนจากเชียงกลางกลับมาที่อำเภอปัวอีกรอบ ทำให้เรามีโอกาสแวะวัดสวยของไทลื้ออีกแห่งคือ วัดต้นแหลง โดดเด่นด้วยวิหารมุงแป้นเกล็ด หน้าบันเจิดจรัสด้วยรังสีพระอาทิตย์แฉกแนว Folk Art ในวิหารมีธรรมาสน์แปลกคือติดกระจกหรือช่องแว่นรายรอบฐาน ไม่เคยพบที่อื่นใด
ชะเง้อดูชมพูภูคา ฟ้าใสที่บ่อเกลือ
เส้นทางจากปัวไปบ่อเกลือมีสองเส้น คือเส้นล่างกับเส้นบน ทริปของเราได้สัมผัสบรรยากาศเต็มๆ ทั้งสองเส้น ขาขึ้นสู่บ่อเกลือเราเลือกที่จะขึ้นเส้นบนทางอำเภอภูคา เพื่อจะไปเชยชมดอกไม้สวยที่ผลิบานแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น (21 กุมภาพันธ์ ถึง 21 มีนาคม)
วันที่เราไปชะเง้อชะแง้เล็งหาดอกไม้สีชมพูสวยสดซึ่งหาชมได้ยากนี้ เพิ่งเป็นช่วงที่ “ชมพูภูคา” กำลังแตกช่อ จึงได้เชยชมเพียงไม่กี่ช่อในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา คือยังพอได้แหงนคอตั้งบ่าเห็นอยู่ 2-3 ต้น ครั้นเดินทางไปยัง “ต้นแม่” สูงใหญ่ตระการซึ่งตั้งอยู่เคียงคู่ศาลเจ้าพ่อภูคา (เจ้าหลวงภูคา) พบว่าต้นแม่ชมพูภูคาปีนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะแตกช่อออกดอกแต่อย่างใดเลย
จากนั้นคณะแวะถ่ายรูปจุดชมวิวสูงสุด 1715 เมตรจากระดับน้ำทะเล จุดนี้เราสามารถประสานเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพื่อขอรับใบประกาศนียบัตรได้อีกด้วย
เย็นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ก่อนเข้าเช็คอินที่ “บ่อเกลือฟ้าใสรีสอร์ต” คณะเราแวะชมวิธีการต้มเกลือสินเธาว์โบราณ ซึ่งค้นพบบ่อเกลือนี้นานกว่า 7-800 ปีแล้ว เป็นเกลือภูเขาที่มีตำนานเกี่ยวกับเจ้าเมืองน่านและพระเจ้าติโลกราช มหาราชแห่งล้านนาทำสงครามแย่งชิงดินแดนบ่อเกลือกัน
5 จุดเช็คอินขาลงทิศใต้
ออกจากบ่อเกลือ เราจะไม่ใช้เส้นทางเดิมให้ซ้ำกับตอนขามา แต่จะใช้เส้นล่างหรือเส้นใต้ คือเส้น ปัว-สันติสุข-ภูเพียง เส้นนี้เป็นถนนตัดใหม่ โค้งถนนค่อนข้างกว้างกว่าเส้นเหนือ ปัว-ภูคา ซึ่งเป็นสันเขาสูงชันตลอดแนว
จุดเช็คอินขาลงจากบ่อเกลือมีทั้งหมด 5 จุด ให้เราได้ถ่ายรูปเซลฟี่ จุดแรกคือโค้งพับผ้า ตามด้วยถนนรูปเลขศูนย์ 0, ถนนรูปเลข 3, ถนนรูปตัว U เรียกถนน I love U
พ้นจากเสน่ห์ของถนนรูปตัวอักษรและหมายเลขต่างๆ แล้ว จะมาพบมนต์ขลังสำหรับคนชอบเช็คอินอีกจุดหนึ่งที่เรียกว่า “บาหลีน่าน” ที่นี่ต้องซื้อตั๋ว 50.- รอคิวเรียกชื่อ จากนั้นเราต้องไปยืนระหว่างช่องประตูที่แกะสลักลวดลายแบบศิลปะบาหลี เอามือถือให้ช่างภาพ เขาจะถ่ายรูปผ่านเลนส์กระจกทำให้เกิดเงาสะท้อนบนล่าง
เสาดินนาน้อยและวัดนาเตา
สองจุดสุดท้ายภาคบ่ายของทริปวันที่ 23 กุมภาพันธ์ คือการแวะชมสถานที่สำคัญของอำเภอนาน้อย ซึ่งเป็นอำเภอที่คนทั่วไปมักมองข้าม จากแยกเวียงสา-ร้องกวาง คณะเราตรงไปด้านซ้ายตัดลงไปในเขตอุทยานแห่งชาติศรีน่าน อำเภอนาน้อย โดยมิลังเล
เสาดิน หรือ Canyon เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาที่ผ่านกาลเวลาทับถมสั่งสมนานกว่า 1 แสนปี ทำให้แต่ละชั้นมีหินดินทรายที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการถูกน้ำและลมซัดกร่อน เสาดินบางแท่ง ชั้นบนเป็นหินกรวดแผ่นหนาดูแกร่งคล้ายก้อนศิลาแลง ท่อนกลางเป็นดินเหนียวผสมดินร่วน แต่บางแท่งยอดแหลมเต็มไปด้วยดินปนทราย เป็นต้น สรุปแล้วขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกันระหว่างการผุกร่อน ต้องถือว่าอุทยานแห่งชาติศรีน่านเป็นจุดที่เต็มไปด้วย Canyon ชนิดไกลลิบสุดลูกหูลูกตา ก็ยังไม่หมดแนวเสาดิน
จุดสุดท้ายของทริปคือวัดนาเตา วัดงามอันซีนกลางทุ่งนาชนบท เป็นวัดที่มีวิหารงาม หอธัมม์สวย ซากอุโบสถน่าทึ่ง ต้นขะจาว 700 ปี ข้อสำคัญคือท่านผู้ช่วยเจ้าอาวาสผู้มีหัวใจอนุรักษ์ พยายามต่อสู้ทุกรูปแบบให้เสนาสนะของวัดหวนกลับไปเป็นรูปแบบดั้งเดิม นั่นคือล้านนาผสมล้านช้าง (ไซยะบุรี)
การเดินทางกลับสู่ลำพูน-เชียงใหม่ มีข้อเตือนว่า เมื่อคุณออกจากอำเภอนาน้อย คุณต้องไม่ “บ้าจี้” ตาม Navigator หรือ GPS มักนำเสนอให้เลี้ยวซ้ายขึ้นเขาทางลัด เพื่อที่จะลงไปบรรจบเส้นร้องกวาง ทำให้คุณอาจเขวคิดว่าเส้นนี้น่าจะใกล้กว่า
ในความเป็นจริง เราต้องตั้งจุดหมายไปที่สามแยกเวียงสาเท่านั้น เพราะเป็นถนนกว้าง รถทำความเร็วได้ และจากแยกเวียงสา เมื่อเราลงเส้นขวา ท่านจะถึงจุดร้องกวางก่อนเส้น GPS นำทางท่านดัดด้นขึ้นป่าเขา มืดมิด ทำเวลาไม่ได้ เร็วกว่าถึง 45 นาที
จบทริปสหพันธ์สัญจรน่านเดือนกุมภาพันธ์ รอพบกันครั้งถัดไปในเดือนมิถุนายนที่เชียงรายค่ะ โปรดติดตาม