เบื้องหลังการสร้างพระพิมพ์หรือที่นิยมเรียกว่าพระเครื่อง โดยเฉพาะในด้านการจัดวางองค์ประกอบของพุทธศิลปะ ที่มีความเกี่ยวข้องกับคติปรัชญาทางศาสนาทั้งพุทธและพราหมณ์ ผสมผสานกับประวัติความเป็นมาทางโบราณคดี และสุดท้ายคือการเพ่งพิศความงามทางสุนทรียศาสตร์
จุดเริ่มของพระพิมพ์ในยุคแรกสร้าง เริ่มต้นมาจากการปั้น "ก้อนดินจำลอง" โดยขอท้าวความไปถึงยุคพุทธกาลเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันว่า ก่อนที่พระตถาคตจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงขอให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนงดเว้นการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของพระศาสดา ส่งผลให้เกิดการปฏิเสธรูปเคารพไปโดยปริยาย คนอินเดียสมัยโบราณจึงยังไม่มีการสร้างพระพุทธรูปไว้กราบไหว้บูชา ยามรำลึกถึงพระพุทธองค์เพื่อเป็นการเจริญอนุสติ ทำได้แค่เพียงการเดินทางไปกราบนมัสการสังเวชนียสถาน 4 แห่ง ดังที่ทราบกันดีคือ
สถานที่ทรงประสูติ – ลุมพินีวัน
สถานที่ทรงตรัสรู้ -พุทธคยา
สถานที่ทรงประทานปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้า – ป่าอิสิปตนามฤคทายวัน
และสถานที่ทรงดับขันธปรินิพพาน – เมืองกุสินารา
เมื่อไปถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แต่ละแห่ง ก็จะใช้วิธีเดินเวียนเทียนแบบประทักษิณรอบต้นไม้ใหญ่เท่าที่พอหาได้บริเวณนั้นๆ 3 รอบ ก่อนเดินทางกลับ มักมีคนในท้องถิ่นนำก้อนดินมามอบให้อาคันตุกะเก็บไว้เป็นของที่ระลึก เพื่อเป็นเครื่องใช้เตือนความทรงจำว่าครั้งหนึ่งผู้จาริกแสวงบุญได้เดินทางมาถึง ณ สถานที่นั้นๆ แล้ว ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าประเพณีการทำ Souvenir นี้อุบัติขึ้นมานานแล้วตั้งแต่หลังยุคพุทธกาลหมาดๆ
"ก้อนดินจำลอง" มีทั้งที่ทำจากดินดิบและดินเผา นานวันเข้าเมื่อมีผู้อยากได้เพิ่มขึ้นจึงเกิดกระบวนการผลิตในปริมาณที่มากกว่าทำทีละชิ้น สำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายเป็นของที่ระลึกเต็มรูปแบบ แต่ก็จำกัดเฉพาะในแหล่งสังเวชนียสถานสี่แห่งนี้เท่านั้น
ด้านเนื้อหาเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ใน "ก้อนดินจำลอง" แต่ละแหล่งก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ ด้วยการเลือกใช้รูปสัญลักษณ์ ที่สื่อถึงความหมายของพุทธประวัติตอนสำคัญสี่ปาง ดังนี้
ปางประสูติ ใช้สัญลักษณ์รูปดอกบัว เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะที่เจ้าชายสิทธัตถะถือกำเนิดนั้น ได้มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับพระบาทให้ย่างเดินเจ็ดก้าว เป็นนัยแห่งการจะทรงประกาศพระศาสนาให้ลือไกลไปถึงเจ็ดคาบสมุทร
ปางตรัสรู้ธรรม ใช้สัญลักษณ์รูปต้นโพธิ์ เนื่องจากขณะที่ทรงบำเพ็ญเพียรบารมีอย่างอุกฤษฏ์เพื่อบรรลุพระสัมโพธิญาณนั้น ทรงประทับอยู่ ณ โพธิบัลลังก์ ซึ่งสมัยก่อนยังไม่มีการสร้างพระมหาเจดีย์โพธคยา
ปางแสดงธรรม ใช้สัญลักษณ์รูปธรรมจักร (บางครั้งมีกวางหมอบ) เหตุเพราะ ณ เมืองสาวัตถีใกล้กับป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้นเป็นสวนกวาง ส่วนธรรมจักรคือกงล้อแห่งพระธรรม หมายความว่าคำสอนของพระพุทธองค์จักเผยแผ่แก่มวลมนุษยโลกไปข้างหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ปางปรินิพพาน ณ สังเวชนียสถานแหล่งสุดท้าย ใช้สัญลักษณ์รูปสถูปจำลอง ซึ่งสมัยต่อมาเมื่อสถูปที่เมืองสาญจีพัฒนาจนมีขนาดใหญ่อลังการสมบูรณ์แบบในยุคพระเจ้าอโศกมหาราช ก็ได้กลายเป็นที่สักการบูชาแทนที่ก้อนดินรูปสถูปจำลอง
อันที่จริงกุศโลบายของการปั้นก้อนดินรูปสัญลักษณ์พุทธประวัติ ณ สังเวชนียสถานทั้งสี่แห่งนี้ ก็เพื่อใช้เป็นหลักฐานบันทึกแทนความทรงจำให้แก่นักจาริกแสวงบุญ พึงระลึกว่าตนได้ไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นครบหมดทุกแห่งแล้วหรือยัง หรือว่าแต่ละแห่งเคยไปมาแล้วกี่ครั้ง โดยนับจากจำนวนก้อนดินรูปสัญลักษณ์ที่เก็บสะสมมาในแต่ละครั้งนั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว นักเดินทางบางคนยังมีความต้องการที่จะขอ "ก้อนดินจำลอง" มากกว่าหนึ่งชิ้น มาเผื่อคนอื่นๆ หรือยุคต่อมาใช้วิธีซื้อหามาแจกจ่ายให้แก่ญาติมิตรที่ีไม่มีโอกาสได้เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานเหมือนตน เพื่อจะได้ร่วมอนุโมทนาบุญนั้นด้วย
นี่คือปฐมบทก่อนที่จะมีการสร้างพระพิมพ์ในยุคเริ่มแรก กระทั่งกาลเวลาล่วงเลยไปถึงเกือบประมาณ พ.ศ. 600 สังคมชาวพุทธจึงเริ่มมีความกล้าที่จะสร้างพระพุทธปฏิมาเป็นครั้งแรกของโลก ด้วยการใช้รูปแบบพุทธศิลป์ของกรีกยุคเฮเลนนิสติก (หมายความว่าเป็นยุคกรีกตอนปลายที่แผ่อิทธิพลไปยังดินแดนอื่นๆ แถบเมโสโปเตเมีย อียิปต์ และอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ) ณ แคว้นคันธารราษฎร์ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ทำให้ขนานนามงานพุทธศิลป์ยุคแรกว่า "ศิลปะคันธาระ หรือศิลปะคันธารราษฎร์"
จากนั้นมาความนิยมในการทำรูปเคารพของพระพุทธองค์ค่อยๆ แพร่หลายมากขึ้น ทั้งในดินแดนฝ่ายพุทธเถรวาทและพุทธมหายาน ทั้งในรูปแบบขององค์พระประธานซึ่งเป็นประติมากรรมลอยตัวในพระวิหาร หรือประติมากรรมนูนสูง-นูนต่ำที่ใช้ประดับซุ้มจระนำของสถูป ครอบคลุมไปถึงงานศิลปกรรมชิ้นเล็กจิ๋วที่สามารถพกติดตัวได้คือ "พระพิมพ์" ที่เรียกเช่นนี้ เหตุก็เพราะเป็นวัตถุที่ผลิตขึ้นคราวละจำนวนมาก ด้วยการกดดินจากแม่พิมพ์
ไม่ปรากฏหลักฐานว่า "ก้อนดินจำลอง" สัญลักษณ์ของสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งค่อยๆ ลดความนิยมลงและหายไปจากอินเดียตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่สำหรับเมืองไทยแล้ว ได้มีการพบ "ก้อนดินจำลอง" รูปดอกบัว ต้นโพธิ์ ธรรมจักร หรือกวาง และสถูปจำลองอยู่บ้างไม่มากนักในสมัยทวารวดีตอนต้น
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือการปรากฏรูปสัญลักษณ์ของพุทธประวัติสี่ปางเป็นครั้งแรก และอาจเป็นเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้นของโลกพุทธศิลปะ ในงานพระพิมพ์ดินเผาสมัยทวารวดี ซึ่งขุดพบที่ซากโบราณสถานคูบัว จังหวัดราชบุรี พระพิมพ์ชิ้นนี้มีความโดดเด่นอยู่ที่พระพักตร์มีลักษณะพื้นเมืองฉายชัดมากกว่างานพุทธศิลป์ชิ้นอื่นๆ ของทวารวดีที่มักพยายามจะเลียนแบบศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ โดยที่ละม้ายบ้างหรือไม่ใกล้เคียงบ้างก็ตาม
พระพิมพ์จากคูบัวแสดงออกด้วยพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร หรือวัชรอาสน์แบบหลวมๆ แลเป็นฝ่าพระบาทสองข้างแปออกด้านหน้า กระทำปางสมาธิ พระกรสองข้างกางออกค่อนข้างเขม็งเกร็งคล้ายอาการยกไหล่อันเป็นรูปแบบเฉพาะของพระพุทธรูปในยุคทวารวดีตอนต้นเท่านั้น พระวรกายมีขนาดเล็กเกินไปเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนกับพระเศียรที่เรียบเกลี้ยงปราศจากเม็ดพระศก ซ้ำยังดูผ่ายผอมบอบบางคล้ายฤๅษี ประพิมพ์ประพายกับพระเหล็กไหลรูปฤๅษีที่ดอยไซของลำพูนมากทีเดียว บางทีอาจมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป
จากรอยกรีดของเส้นที่บางจุดคมชัด บางจุดลบเลือนไม่สม่ำเสมอ สะท้อนให้เห็นว่าพระพิมพ์ชิ้นนี้น่าจะปั้นสดทีละองค์ ไม่ได้ใช้วิธีกดดินจากแม่พิมพ์
ข้อสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ สัญลักษณ์ของเหตุการณ์พุทธประวัติทั้งสี่ปาง ได้ถูกนำมาออกแบบแล้วจัดวางองค์ประกอบรายล้อมรอบองค์พระพุทธปฏิมาอย่างจงใจ กล่าวคือ ฐานตอนล่างเป็นสัญลักษณ์ของปางประสูติ ทำรูปดอกบัว เรียกว่า ปัทมาสนะ หรือฐานปัทม์ ด้านบนเหนือพระเศียรทำเป็นรูปต้นโพธิ์ สัญลักษณ์แห่งปางตรัสรู้ แม้ว่าต้นโพธิ์ในยุคแรกนี้อาจมีรูปลักษณ์ค่อนข้างไปทางก้านฉัตร ซึ่งเรียกกันว่า "โพธิฉัตร" ด้านขวาของพุทธองค์ (ซ้ายมือของเรา) จัดวางรูปธรรมจักรบนแท่งเสา สัญลักษณ์แห่งปางประทานเทศนา และองค์ประกอบสุดท้ายคือ รูปสถูปด้านซ้ายของพุทธปฏิมา หรือด้านขวามือของเรา หมายถึงปางปรินิพพาน
พระพิมพ์จากโบราณสถานคูบัวชิ้นนี้ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมขั้นต้นสุดของการทำพระพิมพ์ดินเผาบนแผ่นดินสยาม เป็นพุทธศิลป์ "หายาก" ที่มีการจัดวางตำแหน่งของสัญลักษณ์ทั้งสี่อย่างเป็นเหตุเป็นผลกัน สอดรับกับคติการนับถือพระพุทธรูปสี่ปางหลัก หรือความเชื่อในการสักการบูชาสังเวชนียสถานสี่แห่ง ของชาวอินเดียและคนในสุวรรณภูมิยุคแรกอย่างถูกต้องชัดเจนที่สุด
เท่าที่พบการจัดวางพระพุทธรูประหว่างธรรมจักรกับสถูปนั้น เคยปรากฏอยู่ในถ้ำเขาถมอรัตน์ที่ศรีเทพ เพชรบูรณ์ การจัดวางองค์ประกอบลักษณะเช่นนี้ นอกจากที่คูบัว และเขาถอมรัตน์แล้ว ยังพบอีกองค์หนึ่งเป็นภาพสลักนูนต่ำบนแผ่นศิลา ศิลปสมัยทวารวดีเช่นกัน พบที่เมืองดงคอน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท แต่รูปทรงค่อนข้างลบเลือน จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี
มีใบสีมาที่จำหลักรูปธรรมจักรและสถูปประกบกันสองด้าน พบทั้งในศิลปะขอมประเทศกัมพูชาและศิลปะทวารวดีทางภาคตะวันออกเฉียงออกเฉียงเหนือของไทยด้วยเช่นกัน
การที่ยุคหลังๆ ไม่นิยมทำพิมพ์ทรงแบบใช้สัญลักษณ์สี่ปางเช่นนี้ อาจเป็นไปได้ว่า เนื่องจากองค์ประกอบดังกล่าวเมื่อพิจารณาในเชิงสุนทรียศาสตร์แล้ว มีความลักลั่นไม่ลงตัวอยู่ คือขาดความสมดุลแบบซ้าย-ขวา เห็นได้ชัดว่ารูปธรรมจักรมีขนาดใหญ่เกินไป แทบจะเต็มพื้นที่เบียดแน่นจนประชิดกับฉัตรโพธิ์และพระเศียรด้านหลัง ในขณะที่องค์สถูปมีขนาดเล็กผอมเพรียว เหลือพื้นที่ว่างด้านข้างมาก ทำให้เกิดการทิ้งจังหวะช่องไฟได้งดงามกว่า
ตรงกันข้ามกับองค์ประกอบของสัญลักษณ์คู่ "ล่าง-บน" คือส่วนของฐานบัวกับโพธิฉัตรนั้น ถือว่ามีสัดส่วนที่เหมาะสมไม่ขัดแย้งกัน ด้วยเหตุนี้เอง การสร้างพระพิมพ์ในยุคต่อมา จึงยกเลิกการนำรูปธรรมจักรมาจัดวางโดยสิ้นเชิง แล้วเปลี่ยนไปเป็นรูปสถูปสองข้างแทนที่ในลักษณะสมดุลดูโล่งโปร่งตา
อย่างไรก็ดี พัฒนาการของพระพิมพ์หลังจากนั้นไม่นาน รูปสถูปสองข้างก็มักถูกแทนที่ด้วยรูปสาวกบ้าง เดียรถีย์บ้าง กวางบ้าง หรือหายไปเลยก็มี เหลือแต่เพียงส่วนของฐานปัทม์กับต้นโพธิบัลลังก์เท่านั้น ที่คงอยู่คู่กับพระพิมพ์อย่างยาวนานมาจนถึงยุคสมัยของเรา โดยเฉพาะดอกบัวนั้น แทบไม่เคยหายไปจากพระพิมพ์รุ่นไหนหรือทรงใดเลย ส่วนต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ใช้เป็นร่มฉัตรอยู่เบื้องบนพระเศียร ต่อมามีวิวัฒนาการสืบทอดกลายเป็นกิ่งโพธิ์แตกก้านสาขาห้อยย้อยระย้าอย่างโดดเด่น และอาจมีบ้างเหมือนกันในบางยุคสมัย บางพิมพ์ทรง ที่ตำแหน่งของต้นโพธิ์อาจถูกแทนที่ด้วยนาคปรก ซุ้มโขงหรือซุ้มโคปุระ
ในเมื่อธรรมจักรหายไปกลายเป็นสถูปสองข้าง ถ้าเช่นนั้นอาจมีผู้สงสัยว่า คติความหมายและสัญลักษณ์ของพุทธประวัติสี่ปางนั้นจะยังคงอยู่เช่นเดิมได้อย่างไร หรือว่าหายสูญตามไปสิ้นแล้ว เรื่องนี้จากการศึกษาของดิฉันค้นพบว่า ช่างได้แก้ปัญหาของการที่ไม่สามารถจัดวางธรรมจักรอันมีรูปทรงกลม บีบบังคับให้พื้นที่โดยรวมของพระพิมพ์ถูกเบียดสิ้นสมดุล ด้วยทางออกที่แยบยลยิ่ง นั่นคือการหันไปจำหลักรูปธรรมจักรบนฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทแทน
โดยปกติแล้ว หนึ่งในคัมภีร์มหาปุรุษลักษณะที่ระบุถึงพุทธลักษณ์ของพระพุทธเจ้าว่ามีความแตกต่างจากมนุษย์ปุถุชนทั่วไปถึง 32 ประการนั้น ได้มีการกล่าวถึงร่องรอยบนฝ่าพระบาทและฝ่าพระหัตถ์ว่าปรากฏลวดลายคล้ายธรรมจักรหรือรูปกงจักรแบบสวัสดิกะอยู่แล้ว
ดังนั้นการไม่ปรากฏรูปธรรมจักรอันเป็นปางสำคัญที่สุดปางหนึ่ง หรือหนึ่งในสี่ปางหลักของพุทธประวัติบนพระพิมพ์ในยุคต่อๆ มานั้น ถือว่าไม่เป็นเรื่องที่ผิดกติกาในด้านคติปรัชญาและความหมายแต่อย่างใด ตราบที่ช่างยังจำหลักรูปธรรมจักรแทรกลงไปบนฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทของพระพุทธรูป อันเป็นตำแหน่งที่เด่นที่สุดด้วยซ้ำ เพราะตั้งอยู่ตอนกลางของพระพิมพ์ท่ามกลางสถูปสองข้าง และดอกบัว ต้นโพธิ์ ล่าง-บน