นักสิทธิสัตว์สวมหน้ากากไก่หน้าแม็คโคร เซอร์วิสในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดโปงความจริงสุดเศร้าของชีวิตแม่ไก่ที่ถูกขังในกรงตับเพื่อการผลิตไข่
เชียงใหม่ – เมษายน 2567 : เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นักสิทธิสัตว์จากซิเนอร์เจีย แอนนิมอล องค์กรพิทักษ์สัตว์สากลรวมตัวกันอย่างสงบที่หน้าแม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิส สาขาศิริมังคลาจารย์ ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทหยุดขายไข่ไก่จากกรงตับ ซึ่งเป็นกรงกรงเล็กมากจนแม่ไก่เคลื่อนไหวแทบไม่ได้ นี่เป็นการจัดกิจกรรมครั้งแรกในเชียงใหม่หลังจากทางองค์กรได้จัดมาหลายครั้งในกรุงเทพฯ และบ่อยครั้งจัดที่หน้าสำนักงานใหญ่ของ CPAXtra
นักสิทธิสัตว์ได้สวมหน้ากากไก่เป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้อง ให้แม็คโครประกาศนโยบายบอกลากรงขัง และเชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วม นอกจากนั้นยังมีการถือป้ายและแจกใบปลิวแก่ประชาชนที่เดินผ่านไปมาเพื่อให้ความรู้และเปิดโปงความจริงอันน่าสลดของระบบกรงตับที่ใช้ในการผลิตไข่
“เราต้องการเชิญชวนประชาชนในเมืองเชียงใหม่ให้ร่วมยืนหยัดและสนับสนุนการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น เรายังมาเพื่อเรียกร้องให้แม็คโครหยุดการขายไข่จากระบบกรงตับในประเทศไทย หากร่วมมือกันด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจต่อสัตว์ เราหวังว่าจะจุดประกายการเปลี่ยนแปลงจากบุคคลากรภายในและเปิดทางสู่อนาคตที่ดีกว่าเติมต่อสัตว์" วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย จากซิเนอร์เจีย แอนนิมอลกล่าว
แม่ไก่ต้องมีโอกาสแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของพวกเขา เช่น การเดิน การทำความสะอาดขน การคลุกดิน การเหยียดขาและกางปีก และการกระพือปีกเพื่อสวัสดิภาพที่ดี แต่ในกรง พวกเขาทำพฤติกรรมตามธรรมชาติเหล่านี้ไม่ได้หลายอย่าง และเนื่องจากกรงขังนั้นแออัดและคับแคบมากแม่ไก่มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความหงุดหงิด ความเจ็บปวด และยังต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะที่เครียดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น
จากการศึกษาของหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งยุโรป (European Food Safety Authority) สรุปว่าฟาร์มระบบกรงมีโอกาสพบเชื้อ Salmonella สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระบบที่ไม่มีกรง
"เราได้เจรจากับสยาม แม็คโครมานานถึงห้าปี และก็เห็นความพยายามจากทางบริษัท เช่น การนำไข่ไก่จากระบบปลอดกรงเข้ามาขาย แต่บริษัทก็ยังไม่ได้ประกาศคำมั่นอย่างชัดเจนว่าจะบอกลากรงขัง” วิชญะภัทร์กล่าวเพิ่ม “เราจึงอยากเชิญชวนให้แม็คโครพิจารณาข้อเรียกร้องนี้อีกครั้ง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่าทางบริษัทก็ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์เหมือนกับบริษัทอื่น ๆ ในไทย เช่น Minor International, Lotus’s, Sukishi Intergroup และ Lemon Farm ที่ได้ประกาศคำมั่นแล้วว่าจะเลิกใช้กรงขังและหันมาสนับสนุนการใช้ไข่ปลอดกรงแทน" วิชญะภัทร์กล่าวสรุป