นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน Appropriate Technology MATCHING DAY 2024 “เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน ประจำปี 2567” ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส โรงแรมดิเอ็มเพรส อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่ือวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวรายงานและให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้จัดงาน Appropriate Technology MATCHING DAY 2024 “เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน ประจำปี 2567” ในพื้นที่ภาคเหนือ ต่อเนื่องจากภาคใต้และภาคอีสาน ระดมผลงานวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จัดแสดงเทคโนโลยีพร้อมใช้กว่า 2,316 ผลงาน จากภูมิปัญญานักวิจัยไทย ตั้งเป้าขยายผลขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก แก้หนี้ครัวเรือน จับคู่แก้โจทย์ปัญหาตอบสนอง ความต้องการชุมชนตามบริบทพื้นที่
งาน “เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน ประจำปี 2567” โซนพื้นที่ภาคเหนือ มีกลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพ รวมถึงผู้ประกอบการในพื้นที่เข้าร่วมงานกว่า 249 กลุ่ม ภายในงานมีการนำเทคโนโลยีพร้อมใช้จำนวน 100 ผลงาน ที่จะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และพึ่งพาตัวเองด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย จากภูมิปัญญาการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาของนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาของเครือข่าย มรภ. และเครือข่าย มทร. ประกอบด้วย เทคโนโลยีในส่วนการผลิต (ต้นน้ำ) ส่วนการแปรรูปหรือยกระดับการเพิ่มมูลค่าผลผลิต (กลางน้ำ) และเทคโนโลยีด้านการตลาด/โลจิสติกส์ (ปลายน้ำ) อาทิ เครื่องกรีดเนื้อมะขามสุก ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาในการผลิตมะขามไร้เมล็ดของผู้ประกอบการ ในเขตพื้นที่ปลูกมะขาม จังหวัดเพชรบูรณ์ เลย อุตรดิตถ์ นวัตกรรมเครื่องเพิ่มความชื้นในโรงเรือนผลิตเห็ด ควบคุมความชื้น และลดอุณหภูมิในโรงเรือนให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ดนางฟ้า ทำให้ผลิตเห็ดได้ตลอดทั้งปี ได้ผลผลิตสูงกว่าการผลิตในโรงเรือนแบบดั้งเดิม ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์
นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีการแปรรูปสินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยนำองค์ความรู้/เทคโนโลยีการแปรรูปสินค้าเกษตรแบบผสมผสานทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ในการแปรรูปที่หาได้ง่ายในครัวเรือน ด้วยเทคนิคต่างๆ จนได้ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง/พร้อมบริโภคที่มีคุณภาพดีเยี่ยม มีสีกลิ่นและรสธรรมชาติของอาหารนั้น อาทิ ผลิตภัณฑ์ข้าวเหนียวทุเรียนกล่องร้อน เทคโนโลยีการผลิตมะนาวอบแห้งแบบฟรีซดราย เทคโนโลยีการแปรรูปเครื่องดื่มผัก - ผลไม้และสมุนไพรพาสเจอร์ไรซ์ ฯลฯ ซึ่งมีใช้งานในชุมชน ผู้ประกอบการ จังหวัดลำปาง เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย ชุดนวัตกรรมผลิตถ่านอัดแท่งจากวัสดุเหลือทิ้งในกระบวนการแปรรูปไม้ไผ่ จากวัสดุเหลือทิ้งในกระบวนการแปรรูปไม้ไผ่ นำมาสร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรมแทนการเผา สร้างอาชีพและรายได้แก่ครัวเรือนยากจน อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ในการผลิตถ่านจากเตาเผาถ่านไร้ควัน เกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนแปรรูปไม้ไผ่และถ่านอัดแท่ง สร้างงานและเกิดการจ้างแรงงานในพื้นที่ นวัตกรรมกระถางต้นไม้จากขยะโฟม นำมารีไซเคิลด้วยกระบวนการแปรรูป ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติป้องกันการซึมของน้ำได้ดี ประยุกต์การใช้งานจากขยะโฟมช่วยแก้การเกิดมลพิษ ในชุมชนโหล่งฮิมคาว ม้ง ลอจ์ด รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลเกาะหมาก จังหวัดตราด เทศบาลนครสงขลา
สำหรับเป้าหมายของการจัดงาน Appropriate Technology MATCHING DAY 2024 คือ การขยายผลการทำงานและสนับสนุนการวิจัยในการยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาอาชีพในการเรียนรู้ รับ ปรับใช้ องค์ความรู้ เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงและจัดการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการวิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริง และตรงตามความต้องการ เพื่อคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการจัดการแก้ปัญหาคนจนและความเหลื่อมล้ำ การยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและฐานรากทั้งภาคชนบทและเมืองให้พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
บพท. โดยความร่วมมือกับเครือข่าย มทร. 9 แห่งและเครือข่าย มรภ. 38 แห่ง มีเป้าหมายเพื่อขยายผลต่อยอดนวัตกรรมพร้อมใช้/เทคโนโลยีที่เหมาะสมจากงานวิจัย สู่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ คนจนฐานราก เกษตรกรรายย่อย กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการในพื้นที่ ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนได้รับชมและนำไปต่อยอดขยายผลการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง
ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวง อว. โดย น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีกระทรวง อว. มอบนโยบายให้หน่วย บพท. เป็นหน่วยงานหลัก “ขยายผลวิจัยเทคโนโลยีพร้อมใช้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและแก้หนี้ครัวเรือน” โดยร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) นำเทคโนโลยีพร้อมใช้จากทั้ง 2 สถาบัน จำนวน 2,316 ผลงาน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพร้อมใช้ที่ผ่านการพิสูจน์ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการใช้งานจริงมาแล้ว มาจัดแสดง เพื่อให้ประชาชน ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ องค์กรปกครองท้องถิ่น ตลอดจนวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ได้พิจารณานำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ ตามบริบทพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างเสริมรายได้ สร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างความอยู่ดีกินดีมีความสุข
ที่ผ่านมาการจัดงาน “เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน” ประจำปี 2567 จัดขึ้นครั้งแรกในโซนภาคใต้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่ 2 โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ 3 โซนภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และครั้งที่ 4 โซนภาคกลาง กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพมหานคร