วันที่ 10 มิถุนายน 2567 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 60 (วปอ.60) ร่วมปลุกพลังคนรุ่นใหม่สร้างจิตสำนึกดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าโครงการ “ลูกช้าง THINK TO TURN LEARN TO ทิ้ง” ภายใต้แนวคิดส่งเสริมการแยกขยะและให้ความสำคัญการจัดการขยะในมหาวิทยาลัย เพื่อปลูกฝังพฤติกรรมคัดแยกและการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี ให้กับสังคม
โครงการ “ลูกช้าง THINK TO TURN LEARN TO ทิ้ง” มุ่งสร้างความตระหนักรู้และปลุกจิตสำนึกในการจัดการขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้แก่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนเยาวชนรุ่นใหม่ในสังคม โดย ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. และ ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร GC ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการจัดการขยะในโครงการดังกล่าว โดยได้รับเกียรติจาก พลเอกวีรชน สุคนธปฏิภาค ผู้แทน วปอ. 60 พร้อมด้วย คณาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้บริหาร GC ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ณ Exhibition Hall อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่)
ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า มช. มีวิสัยทัศน์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม โดยตั้งเป้าปลุกจิตสำนึกนักศึกษาให้หันมาใช้พลาสติกอย่างรู้คุณค่า เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ERDI-CMU) เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมการจัดการขยะในมหาวิทยาลัย ให้กับนักศึกษา และบุคลากรในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 60 หรือ (วปอ. 60) ผู้นำในการดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือและสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สั่งคม (CSR) มาอย่างต่อเนื่อง ยังได้เข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยมุ่งเน้นการลดปริมาณขยะที่ถูกทิ้งอย่างไม่เหมาะสม และมุ่งเพิ่มอัตราขยะรีไซเคิลให้มากขึ้น
ด้าน ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เผยว่า GC ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยสมดุล ด้าน ESG มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050 พร้อมนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ โดยได้ริเริ่มและสร้างแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาขยะในประเทศไทยร่วมกับภาคสังคม ผ่าน ‘GC YOUเทิร์น แพลตฟอร์มบริหารจัดการพลาสติกแบบครบวงจร’ และสนับสนุนให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีให้กับคนรุ่นใหม่ โดยการเก็บกลับพลาสติกใช้แล้วให้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและอัพไซเคิล รวมถึงการนำกลับมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มมูลค่า โดย GC และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันเริ่มรณรงค์และสร้างการรับรู้ด้านการจัดการขยะในกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น งานรับน้องขึ้นดอย งานสานศิลป์ กิ๋น แอ่ว อู้ มาตั้งแต่ปลายปี 2566
และด้วยการความร่วมมือริเริ่มโครงการ “ลูกช้าง THINK TO TURN LEARN TO ทิ้ง” ของทุกภาคส่วนครั้งนี้ GC จึงได้นำความรู้และความเชี่ยวชาญมาช่วยส่งเสริมการจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับเป็นการต่อยอดความร่วมมือเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของนักศึกษา บุคลากร ภายในมหาวิทยาลัย และยังเป็นการสร้างโอกาสขยายผลไปยังชุมชนรอบรั้วภายนอกมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย
ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ กล่าวเสริมว่า มช. มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมสู่การใช้จริง ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญ ในการสร้างโครงการที่นำเอานวัตกรรมการจัดการขยะพลาสติกจากทั้งฝั่ง มช.และฝั่ง GC มาบูรณาการร่วมกัน หรือที่เรียกว่า Open Innovation เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยกลไก CSR Package ของ มช. ที่เชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัย และหน่วยงานเอกชนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สังคมผ่านกิจกรรมสร้างการรับรู้ด้านการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ซึ่งการผสานความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้เกิดการจัดการขยะที่ยั่งยืนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบแนวทางที่ดีให้แก่สถาบันการศึกษา หรือ หน่วยงานอื่นๆ ที่สามารถนำไปขยายผลต่อยอดสู่การใช้งานในพื้นที่ต่อไป รวมทั้งโครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับนักศึกษาและเยาวชนรุ่นใหม่ อีกด้วย