โครงการ INNO4Tourism เปิดตัวอย่างเป็นทางการ พร้อมขับเคลื่อนและยกระดับศักยภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ส่งเสริมกลไกความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและมหาวิทยาลัย มุ่งเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรมหาวิทยาลัย ส่งเสริมการเตรียมความพร้อมสู่ตลาดแรงงานให้แก่กลุ่มผู้เรียนและกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ในสาขาวิชาการท่องเที่ยวและบริการ ให้มีความพร้อมในทักษะที่จำเป็นและความท้าทายของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ภายใต้ทุนสนับสนุนของสหภาพยุโรป และ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันที่ 17 มิถุนายน 2567 คณะทำงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุทธศักดิ์ ฉัตรแก้วนภานนท์ หัวหน้าภาควิชาการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์, รองศาสตราจารย์ ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ หาญวงค์ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรวิชย์ ถิ่นนุกูล ในฐานะคณะกรรมการกำกับโครงการ (Project Steering committee) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทรพร คูวุฒยากร Project Leader ร่วมต้อนรับคณาจารย์ ผู้ประกอบการ และภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว ในงานเปิดตัวโครงการ "INNO4Tourism - National Project Launch Event" ณ ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ASTRA ชั้น 3 วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เพื่อสร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้เรียนและบัณฑิตจบใหม่สาขาวิชาการท่องเที่ยวและบริการ และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ รวมถึงกลุ่มบุคลากรมหาวิทยาลัย ให้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะที่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถแข่งขันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ ๆ ได้
สำหรับโครงการ INNO4Tourism (Innovative Curricula for Life-Long Learning of Sustainable Tourism Workforce) ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (European Union) ภายใต้กรอบการดำเนินงานของโครงการ Erasmus+ โปรแกรมเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา (Capacity Building in Higher Education: CBHE Action) ระยะเวลา 3 ปี (1 ธันวาคม 2566 – 30 พฤศจิกายน 2569) ได้รับงบประมาณสนับสนุนทั้งหมด 748,055 Euro (ประมาณ 29 ล้านบาท) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยและสปป.ลาว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มนักศึกษาและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีผลลัพธ์ที่สำคัญของโครงการฯ ประกอบด้วยการจัดตั้งศูนย์แนะแนวอาชีพ (Career Office) ในมหาวิทยาลัยพันธมิตรทั้ง 4 แห่ง ในประเทศไทยและสปป.ลาว เพื่อเป็นกลไกในการเชื่อมโยงภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (University-Business Cooperation: UBC mechanisms) และการพัฒนาคอร์สเรียนออนไลน์ ประกอบด้วย 8 รายวิชาย่อย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงทักษะที่จำเป็นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งในอนาคตจะถูกบูรณาการและนำมาใช้เป็นวิชาในหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง และรองรับการพัฒนาทักษะในแพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในระยะถัดไปได้
ภายในงานมีกิจกรรมพบปะเสวนาภายใต้หัวข้อ "บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการเพื่อความยั่งยืน ภายใต้กระแสของสังคมและเทคโนโลยีสมัยใหม่" จากแขกรับเชิญพิเศษ 5 ท่าน ซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวภาคเอกชน และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย คุณจิรกร สุวงศ์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ คุณสุขสันต์ ชุตินธราทิพย์ Executive Chef โรงแรม Meliá Chiang Mai คุณ ฐิติภัค ต้นวรรณา Human Resources & Training Supervisor Meliá Chiang Mai ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุทธศักดิ์ ฉัตรแก้วนภานนท์ หัวหน้าภาควิชาการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฎิสนธิ์ ปาลี รองคณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ให้เกียรติร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงานครั้งนี้ด้วย
นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ได้มีพิธีมอบครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์จัดประชุมเต็มรูปแบบ 1 ชุด และ Server 1 ชุด สำหรับการดำเนินงานนำร่องศูนย์ให้คำปรึกษาด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ASTRA ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปในโครงการปี 2563-2566 มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท จากตัวแทนผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายธรรมนูญ น่วมอนงค์ รองผู้อำนวยการสำนักงานมหาวิทยาลัย ที่ได้กำกับดูแลนโยบายด้านงานวิจัยและขับเคลื่อนโครงการ ASTRA ซึ่งรับมอบโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฎิสนธิ์ ปาลี รองคณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ตัวแทนของวิทยาลัยฯ
การดำเนินโครงการนี้ คาดหวังว่าจะสามารถสร้างผลกระทบต่อสังคม (Socio-Impact) ที่เกี่ยวกับการสร้างมูลค่าเพิ่มจากบริการด้านการท่องเที่ยวในมิติต่าง ๆ และความยั่งยืน (Sustainability) ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาทักษะของบัณฑิตจบใหม่ และผู้ประกอบการในท้องถิ่น ให้สามารถแข่งขันได้ในรูปแบบที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ SDGs ที่กำหนดวิสัยทัศน์เป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม” รวมถึงยุทธศาสตร์ของวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมสู่ความยั่งยืน