ทอท.จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 1 เพื่อนำเสนอรูปแบบ คอนเซ็ปต์และพื้นที่ก่อนที่จะมีเวทีครั้งที่ 2 ในปลายปีนี้ พร้อมกับนำเสนอครม.ขออนุมัติงบฯ 2.4 ล้านบาทเพื่อดำเนินการรวมถึงการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างกลางปีหน้า ใช้เวลา 5 ปี
วันที่ 26 ส.ค.67 ที่ห้องประชุมแกรนด์นันทา บอลรูม 1-2 โรงแรมเช็นทารา ริเวอร์ไซด์ เชียงใหม่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 การศึกษาและจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ : แผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 300 คน ประกอบไปด้วยผู้นำชุมชน ประชาชนบริเวณใกล้เคียงโครงการ หน่วยงานราชการที่เกี่ยงข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจเข้าร่วมประชุม
นายสุวิชา ฉิมะพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวว่า จากผลการศึกษางานสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2567 ได้คาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศและจำนวนผู้โดยสารของ ทอท. ในปัจจุบัน พบว่ามีปริมาณการจราจรทางอากาศและจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ลานจอดอากาศยาน อาคารผู้โดยสารระบบถนนภายใน พื้นที่จอดรถยนต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าอากาศยานเชียงใหม่ในปัจจุบัน ไม่สามารถรองรับได้อย่างเพียงพอ จึงต้องมีการปรับปรุงองค์ประกอบของท่าอากาศยานเชียงใหม่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อรองรับการเติบโตของนักท่องเที่ยว 20 ล้านคนต่อปี โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและได้มาตรฐานสากล เพื่อเป็นประตูสู่ล้านนา
ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการไปจากที่ระบุไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ จึงต้องดำเนินงานเพื่อศึกษาและจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการดังกล่าว เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป ดังนั้น ทอท. จึงได้ดำเนินการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดโครงการขอบเขตการศึกษา การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการ สำหรับนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยกรอบการศึกษาของโครงการมีระยะเวลาการดำเนินงานประมาณ 9 เดือน สิ้นสุดในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568
ด้าน น.ส.ปวีณา จริยฐิติพงศ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวว่า ทอท.ได้ว่าจ้างผู้ออกแบบพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ซึ่งได้ผล 80% ทั้งรูปแบบและคอนเซ็ปต์ พื้นที่ เมื่อได้แบบก็จะทำการขออนุมัติงบประมาณการก่อสร้าง รวมทั้งงบประมาณในการชดเชยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)ทางด้านเสียงที่จะดำเนินการในต้นปี 2568 ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม น้ำมัน อากาศ น้ำเสีย ทั้งระหว่างและหลังการก่อสร้าง โดยจะขออนุมัติจากครม.ภายใต้งบประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท โดยการก่อสร้างจะเริ่มกลางปี 2568 ทั้งโครงการที่จะใช้เวลารวม 5 ปี จึงแล้วเสร็จ
“วันนี้เป็นการเอาแผนงานและเนื้อหาโครงการพัฒนาท่าอากาศเชียงใหม่มาอธิบายให้ประชาชนและรับฟังความคิดเห็นไปด้วย ทั้งนี้ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีศักยภาพในการอยู่รวมกันกับชุมชน โดยจะนำโมเดลท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุง ทั้งภายในสนามบินและชุมชนรอบข้าง โดยเป็นการขยายเพื่อรองรับการเติบโตตามรันเวย์ที่รับผู้โดยสารได้ถึง 20 ล้านคนต่อปี แยกเป็นอาคารต่างประเทศ 13 ล้านคน และในประเทศ 7 ล้านคน ด้วยหลุมจอด 31 หลุม ประตูเชื่อม 16 แห่ง จากเดิมที่มีความแออัดอยู่ที่ 8 ล้านคนต่อปี” พงศ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวและว่า
สำหรับการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น EIA จะจัดทั้งหมด 2 ครั้งๆ นี้เป็นครั้งแรก และครั้งที่ 2 จะจัดในปลายปี 2567 นี้ นอกจากนี้จะมีเวทีย่อยที่จะจัดขึ้นในชุมชนอีก.