คุณทัศนีย์ ยะจา เป็นเจ้าของและผู้ประกอบกิจการ “เชียงใหม่ศิลาดล” (Chiang Mai Celadon) เลขที่ 135/4 หมู่ที่ 6 ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีลูกหลานช่างฝีมือในท้องถิ่นเป็นผู้ช่วยในการผลิต ทุกวันนี้เชียงใหม่ศิลาดลได้การยอมรับจากผู้มาเยือนทั้งภาครัฐและเอกชนว่าเป็นแหล่งหัตถกรรมล้านนาที่สมบูรณ์บบครบวงจร สามารถให้เราศึกษาได้ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ กล่าวคือทำการวางแผนออกแบบโพรดักส์ กำหนดรูปทรง ลวดลาย สีสัน เทคนิคกรรมวิธีเอง ต่อมาดำเนินการผลิตทุกขั้นตอนแบบม้วนเดียวจบ ณ ที่แห่งนี้ และสุดท้ายมีโชว์รูมจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในแห่งที่เดียวกัน ทำให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศให้เป็นสินค้าที่ได้รับรางวัลสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มานานกว่าทศวรรษแล้ว
นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตงานหัตถศิลป์ สถานที่แห่งนี้ยังจัดให้มีกิจกรรมพิเศษในลักษณะ Workshop ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ศึกษาดูงานสามารถร่วมสัมผัสเนื้อดิน ขยำดิน ปั้นดิน เรียนรู้กระบวนการเผากี่ขั้นตอน เผาแบบความร้อนต่ำจนได้เนื้อกึ่งดิบกึ่งสุกเรียกศัพท์ช่างว่า “บิสกิส” (Biscuit) ก่อน แล้วมาเรียนรู้การทำน้ำเคลือบ เขียนลายเพนท์ ลายขูดขีด จนนำไปสู่กระบวนการเผาอีกครั้งด้วยอุณหภูมิสูง
เหนือสิ่งอื่นใดที่ห้ามพลาด เสน่ห์ของเชียงใหม่ศิลาดลคือ “ข้าวต้มมัด อาหารว่างอันเลิศรส” ของฝากขึ้นชื่อของที่นี่ คุณทัศนีย์หรือ “พี่แป๊บ” ยังแถมให้ผู้สนใจ (ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนและชาวต่างชาติ) สนุกกับการร่วมห่อ “ข้าวต้มมัด” ด้วยใบตองอ่อนๆ ที่ใช้ “ถั่วแดง+งาขี้ม้อน” แทนถั่วดำอีกด้วย จึงไม่ต้องแปลกใจแต่อย่างใดว่า ทำไมเชียงใหม่ศิลาดลในยุคปัจจุบันจึงกลายเป็น “แหล่งเรียนรู้” ที่มีผู้มาเยือนทั้งไทย-เทศแบบคึกคักอย่างไม่ขาดสาย
ประวัติความเป็นมาของ “ศิลาดล”
การผลิตเครื่องเคลือบศิลาดลหรือสังคโลกมีต้นกำเนิดจากประเทศจีนราว 2,000 ปีมาแล้ว เทคนิคการผลิตมีการถ่ายทอดสู่อาณาจักรสุโขทัยและต่อเนื่องมาสู่เชียงใหม่ที่เป็นแหล่งดินดำอันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เวียงกุมกาม เมืองโบราณที่อยู่ห่างเมืองเชียงใหม่ราว 5 กิโลเมตร พบว่ามีเศษเครื่องเคลือบที่ผลิตจากเตาสันกำแพง อายุสมัยพุทธศตวรรษที่ 19-20 เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความนิยมและปริมาณการผลิตของเครื่องเคลือบชนิดนี้ในอาณาจักรล้านนาตั้งแต่ยุคต้นของอาณาจักร
ส่วนการผลิตเครื่องเคลือบศิลาดลของจังหวัดเชียงใหม่ในยุคปัจจุบันเริ่มขึ้นเมื่อราว 100 ปีที่แล้วโดยช่างหัตถกรรมชาวไทใหญ่จากเมืองกิ๋ง รัฐฉาน ได้เริ่มตั้งเตาเผาที่บ้านประตูช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อมีการขยายตัวของชุมชนเมือง แหล่งเตาเผาจึงได้ขยายตัวออกไปสู่เขตอำเภอรอบนอก เช่น สันกำแพง และดอยสะเก็ด เป็นต้น
นิยามของคำว่า “ศิลาดล”
ก่อนอื่นต้องขออธิบายความแตกต่างของเครื่องปั้นดินเผาในประเทศไทยให้ผู้อ่านทราบว่ามีทั้งหมด 5 ประเภทตามลักษณะของเนื้อดิน ดังนี้
1) เทอร์ราก๊อตตา (Terracotta) มีสีส้มอมแดง เนื้อหยาบ ไม่ใช้น้ำเคลือบ ใช้ไฟอุณหภูมิต่ำ อันได้แก่เครื่องปั้นดินเผาสกุลช่างหริภุญไชย น้ำต้นลำพูนมาจนถึงน้ำต้นแม่วางของสล่าแดง น้ำต้นบ้านเหมืองกุง กลุ่มนี้ถือเป็นพื้นฐานของเครื่องปั้นดินเผาทั้งหมดในโลกยุคบุกเบิก
2) เอิร์ทเทินแวร์ (Earthenware) มีเนื้อดินแน่นขึ้นกว่ากลุ่มแรก ทึบแสงขึ้น ใช้เวลาเผานานกว่ากลุ่มแรก มีทั้งแบบเคลือบและไม่เคลือบ เช่นกลุ่มเครื่องถ้วยเตาบ้านกรวด บุรีรัมย์ เครื่องถ้วยเขมร หรือเศษเครื่องถ้วยที่พบกระจัดกระจายตามแหล่งโบราณสถานรุ่นเก่าทั้งยุคหริภุญไชยและยุคล้านนา เป็นพวกถ้วยชามรามไหราคาไม่แพงนักใช้สำหรับคนในชุมชน ไม่เน้นการส่งออกนำเข้าหรือการค้าขาย (เรียกให้ง่ายคือ เครื่องถ้วยพื้นบ้าน)
3) สโตนแวร์ (Stoneware) เครื่องดินเผาประเภทเนื้อแกร่ง ค่อนข้างแข็ง ทึบแสง เช่นเครื่องถ้วยเตาสันกำแพงรุ่นสีน้ำตาล
4) พอร์ซเลน (Porcelain) หมายถึงเซรามิคมีเนื้อแกร่ง โปร่งแสง มีทั้งประเภทลายคราม กลุ่มนี้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากคือ “เครื่องลายคราม” (Blue & White Porcelain) ทุกวันนี้มีการสืบทอดที่เตาอำเภอสันทราย ของสล่าสมนึก ไชยตามล
5) โบนไชนา (Bone China) เนื้อบางเบา แข็งแกร่ง ขาวและวาว มีการใช้เถ้าจากกระดูกสัตว์ผสมในการผลิต
กระบวนการผลิต “ศิลาดล”
สำหรับเครื่องเคลือบศิลาดลนั้นถือว่าก้ำกึ่ง อยู่ในกลุ่มที่ 3 ผสมกับกลุ่มที่ 4 มีความพิเศษแตกต่างจากพอร์ซเลนทั่วไป ศิลาดลแบ่งออกได้ 3 ชนิดตามลักษณะการเคลือบ ได้แก่
- เคลือบศิลาดลที่มีสีสดใส มีรอยแตกรานใต้เคลือบ น้ำเคลือบเตรียมจากขี้เถ้าหรือเคลือบเคมีที่มีปริมาณด่างสูง
2) เคลือบศิลาดลที่มีสีขุ่นกึ่งด้าน เตรียมน้ำเคลือบจากหินฟันม้า เผาในอุณหภูมิต่ำกว่าเดิม 20–30 องศาเซลเซียส ทำให้เคลือบไม่มัน
3) เคลือบศิลาดลเทียม ที่เผาด้วยเตาไฟฟ้า เผาแบบสันดาปสมบูรณ์ (Fully Oxidation) มีสีเขียวสดใสกว่า
กล่าวให้เห็นกระบวนการผลิตอย่างเป็นรูปธรรมแบบกระชับเข้าใจง่ายได้ดังนี้ ศิลาดล หมายถึง เครื่องปั้นดินเผาเคลือบด้วยวัสดุธรรมชาติ ใช้ขี้เถ้าของไม้เนื้อแข็ง (ภาคเหนือในวัฒนธรรมล้านนา นิยมใช้ไม้มะก่อ และไม้มะฮกฟ้า) ผสมดินหน้านา เมื่อผสมกันแล้วเรียกว่า “น้ำเคลือบขี้เถ้าไม้” (Wood Ash Glazed) ใช้ความร้อนสูงที่ระดับ 1,250 องศาเซลเซียส ในบรรยากาศของการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ (Reduction) เมื่อเผาแล้วจะมีสีเขียวเหมือนหยก หรือสีเขียวไข่กา และมีรอยรานบนพื้นผิวหรือเคลือบแตกลายงา (Crackle Glazed) อันเกิดจากการหดตัวของเนื้อดินและน้ำเคลือบ
ปัจจัยที่ช่วยเอื้อให้การผลิตเครื่องเคลือบศิลาดลมีคุณภาพสูง ประกอบด้วยสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ อันได้แก่ ต้องได้ดินดำชนิดดี (ในที่นี้เชียงใหม่ศิลาดลของคุณทัศนีย์ ได้ดินเหนียวกลางทุ่งนา ซึ่งนำมาจากบริเวณ อ.แม่ริม-อ.แม่แตง) กับต้องมีไม้เนื้อแข็งที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อทำเถ้าน้ำเคลือบ บวกกับความรู้เชิงช่าง (Craftsmanship) ของท้องถิ่นที่เกิดจากการเรียนรู้และการสั่งสมประสบการณ์จนเกิดเป็นความชำนาญ
คุณทัศนีย์ ยะจา กล่าวว่า ทุกวันนี้เธอยังต้องต่อสู้ปรับปรุงคุณภาพ แก้ไขปัญหาเรื่อง “ความแตกรานของพื้นผิว” อันเป็นเสน่ห์ของเครื่องเคลือบศิลาดลเรื่อยมาอย่างไม่เคยหยุดยั้ง เนื่องจากมุมหนึ่งรอยแตกรานคือความงาม เป็นอัตลักษณ์สำคัญของศิลาดลก็จริง แต่ทว่าอีกมุมหนึ่งนั้น อาจไม่ต้องตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ที่กำหนดให้ผิวเคลือบต้องไม่มีรอยแตกรานมากนัก เพราะเมื่อใช้เป็นภาชนะใส่อาหารแล้ว เมื่อผ่านการใช้งานไประยะหนึ่งจะเกิดคราบสกปรกซึมเข้าไปในร่องเคลือบได้
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า “ศิลาดล” แต่ละชิ้นที่พวกเรามองแล้วชื่นชมอิ่มเอมใจนั้น เบื้องหลังของการที่กว่าจะออกแบบปั้นดิน แต่งลวดลาย ทำน้ำเคลือบ ก็ยากพอแรงแล้ว ไหนจะยังต้องต่อสู้เรื่องการพัฒนาคุณภาพ อุดรูรั่วของทุกปัญหา คุณทัศนีย์ ยะจา กล่าวว่า “แต่ละหนึ่งชิ้นงานที่ท่านชื่นชม มิได้มาโดยง่ายเลย”
คือทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางภูมิปัญญา
จากการสัมภาษณ์คุณทัศนีย์ ยะจา ทำให้ดิฉันทราบว่า แม้เบื้องหลังการผลิตนั้นเธอต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการอย่างสาหัสสากรรจ์อย่างไรบ้าง แต่เธอก็ภาคภูมิใจว่า ผลิตภัณฑ์ของ “เชียงใหม่ศิลาดล” มีข้อได้เปรียบทางด้านคุณภาพ เมื่อเทียบกับงานของกลุ่มผู้ประกอบการด้านเครื่องปั้นดินเผาเซรามิกและศิลาดลรายอื่นๆ ที่กระจายในจังหวัดเชียงใหม่ (มีอยู่ประมาณ 15 ราย ในท้องที่ต่าง ๆ ของจังหวัด เช่น อำเภอหางดง สันกำแพง และอำเภอสันทราย) ด้วยเหตุและปัจจัยดังนี้
1.การใช้วัตถุดิบในการผลิตและเคลือบจากวัสดุธรรมชาติ
2.เป็นการผลิตโดยแรงงานฝีมือ (Handmade) ทุกขั้นตอนที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของคนรุ่นเก่า
3.คำว่า เครื่องเคลือบสีเขียวใส นี้ ยังแยกย่อยสีเขียวออกได้หลายเฉดสีอีก ทั้งสีเขียวเหมือนหยกวาวใส ทั้งสีเขียวไข่กาแบบดั้งเดิมเหมือนเครื่องถ้วยสังคโลกของศรีสัชนาลัย พัฒนาไปสู่สีเขียวฟ้าน้ำทะเลไล่เฉดไปถึงเขียวคราม (ดูเข้มข้นเคร่งขรึมสง่างามขึ้น) หรือออกสีเขียวตอง (ดูอ่อนหวานกระจุ๋มกระจิ๋ม) ไปจนถึงสีเขียวขี้ม้าหม่นๆ ดูคลาสสิก
4. จุดเด่นประการสำคัญที่หาไม่ได้ในเซรามิคประเภทอื่นๆ ก็คือ ความสามารถในการทำให้ “ผิวของผลิตภัณฑ์ เกิดรอยรานแตกเป็นลายงา” รอยรานนี้ปรากฏอยู่ที่ใต้ผิวเคลือบ
5.นอกจากมีสีเขียวสวยใส มีรอยแตกรานแล้ว คุณทัศนีย์ ยะจา ยังได้ผนวกหรือผสมผสานงานศิลปะร่วมสมัย (Contemporary) เข้ามาให้ดูเป็นสากลมากขึ้นอีกด้วย แบบไม่จำกัดเทคนิค อาทิ การเพนท์ลายรดน้ำ (ลายคำน้ำแต้ม) ทับบนภาชนะ การใช้เปลือกไข่ชิ้นเล็กๆ ฝังแบบโมเสค บางชิ้นแกะสลักลวดลาย ขูดขีดให้เป็นร่องลึกในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
แนวความคิดสร้างสรรค์เพื่อต่อยอดการผลิตงานหัตถศิลป์ของเชียงใหม่ศิลาดล พบว่าแบ่งกลุ่มตามประโยชน์ของการใช้สอยออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1.ภาชนะเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (Tableware) 2. เครื่องประดับตกแต่งบ้าน(Decorative Item) 3. ของชำร่วยของฝากหรือของที่ระลึก (Gift and souvenir Item)