วัดเจริญเมือง ตั้งอยู่เลขที่ 1 บ้านศรีทรายทอง หมู่ที่ 19 ตำบลเจริญเมือง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
ชื่อของวัดเจริญเมือง เป็นชื่อที่ตั้งให้ใหม่โดยครูบาเจ้าศรีวิชัย เดิมวัดชื่อ “พระธาตุดอยเต่า” เนื่องจากตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ คล้ายกระดองเต่าจึงเรียกว่า “วัดดอยเต่า” เดิมเป็นวัดร้างมีต้นไม้เถาวัลย์ขึ้นปกคลุมหนาทึบ ปรากฏซากสิ่งก่อสร้างกระจายอยู่บนยอดดอยเต่า ไม่มีชาวบ้านขึ้นมาเพราะเกรงกลัวสิ่งลี้ลับ จนกระทั่ง พ.ศ. 2476 ได้มีคณะศรัทธาพ่อไชยา (ใจยา) อุ่นฟอง ผู้ใหญ่บ้านป่าก่อ พร้อมกับพ่ออ้าย เทพธรรม พ่อสุข ใสคำฟู และชาวบ้านป่าก่อ ได้อาราธนาครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นองค์ประธานบูรณะวัดร้างดอยเต่า
ต่อมาใน พ.ศ. 2476 ครูบาเจ้าศรีวิชัย หรือผู้ที่ศรัทธาวัดเจริญเมืองเรียกว่า “ครูบาหลวงมหาเถรศิริวิไชยาชนะ” หรือ “ครูบาหลวงศรีวิชัย” หรือ “ครูบาหลวง” ได้เดินทางไปบูรณะพระธาตุดอยตุง ขากลับได้เดินทางผ่านหมู่บ้านป่าก่อ แวะพักค้างคืนที่วัดศรีทรายมูล พ่อไชยา (ใจยา) อุ่นฟอง ผู้ใหญ่บ้านป่าก่อ พร้อมกับพ่ออ้าย เทพธรรม พ่อสุข ใสคำฟู และชาวบ้านป่าก่อได้ใส่บาตรครูบาเจ้าศรีวิชัย
ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้บอกให้คณะผู้มาใส่บาตรให้ไปแผ้วถางบูรณะพระธาตุดอยเต่า บอกว่าเคยเป็นวัดมาก่อน ภายหน้าจะกลายเป็นวัดใหญ่ ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาเป็นประธานนั่งหนัก ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มอบหมายให้ลูกศิษย์คือ ครูบากัญจนะ (ชุ่ม) จากอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เป็นช่างใหญ่ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างต่างๆ ได้แก่ สร้างพระธาตุครอบบนซากอิฐ “พระธาตุดอยเต่า” ที่เคยเป็นพระธาตุเก่า มีขนาดความกว้าง 4.4 เมตร ความยาว 4.5 เมตร ความสูง 16 เมตร สร้างรูปปั้นสุนัขไว้ 4 มุมฐานพระธาตุ พร้อมใส่หัวใจไว้ทุกตัวเพื่อให้เป็นอารักษ์รักษาพระธาตุและข้าวของต่างๆ ที่บรรจุไว้ภายใน ป้องกันภูตผีปีศาจและคนร้ายมาทำอันตรายต่อองค์พระธาตุ
ศรัทธาฝ่ายฆราวาสนำโดยแม่เจ้าคำแปง เชื้อเมืองพาน และแม่เจ้าคำแดง เชื้อเมืองพาน ชายาทั้ง 2 คนของพญาไชยชนะสงคราม (เจ้าหนานอินทจักร (อิ่นคำ) เชื้อเมืองพาน ต่อมาได้รับยศเป็นหลวงพงษ์พูนสวัสดิ์) เจ้าเมืองพานคนสุดท้าย มีศรัทธามาร่วมสร้างจากอำเภอต่างๆ ในจังหวัดเชียงรายและต่างจังหวัด เริ่มก่อสร้างขึ้น 11 ค่ำ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 2476 สร้างแล้วเสร็จมีงานฉลองสมโภชเดือน 6 เป็ง (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ) พ.ศ. 2477 และถือเป็นประเพณีสรงน้ำพระธาตุมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อสร้างพระธาตุวัดเจริญเมืองพร้อมกันนั้นได้สร้างกุฏิไม้มุงด้วยหญ้าคาด้านทิศตะวันออกขององค์พระธาตุอีก 1 หลัง กุฏิหลังนี้เคยใช้เป็นที่พักของครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง ครูบาอภิชัยขาวปี และครูบาชัยยะวงศาพัฒนา เมื่อมาที่วัดเจริญเมือง มีจารึกการสร้างและรายนามผู้ร่วมสร้างด้วยอักษรธัมม์ล้านนาบนแผ่นปูน ปักไว้ข้างฐานพระธาตุด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก จะพบจารึกลักษณะเดียวกันนี้ตามพระธาตุต่างๆ ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมอบหมายให้ครูบากัญจนะและครูบาไชยาเป็นนายช่างก่อสร้าง
ต่อมาเมื่อบูรณะขึ้นจากวัดร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พ.ศ. 2477 ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เดินทางมาที่วัดเพื่อฉลองสมโภช ได้ตั้งชื่อวัดขึ้นใหม่จาก “วัดพระธาตุดอยเต่า” เป็น “วัดเจริญเมืองชุม” ซึ่งต่อมาเรียกสั้นๆ ว่า “วัดเจริญเมือง” หมายถึงบ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรือง มีผู้คนมาชุมนุมตั้งถิ่นฐานหนาแน่นแผ่ขยายออกไปกว้างขวาง
พ.ศ. 2478 สร้างวิหาร 1 หลังที่ใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมแท่นแก้ว (ฐานชุกชี) สูง พระประธาน และพุทธสาวกปูนปั้น 2 องค์ ซึ่งดูแปลกกว่าวัดอื่น คือสร้างเป็นรูปปั้นยืนและใช้มือประคองแท่นแก้วของพระประธานไว้ เดิมวิหารหลังนี้มุงด้วยกระเบื้องดินขอ ภายหลังบูรณะใหม่เปลี่ยนเป็นกระเบื้องเคลือบ วิหารหลังนี้ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2480 ด้วยวัดเจริญเมืองตั้งอยู่บนยอดเขามีพื้นที่จำกัด และปรากฏซากพระธาตุอยู่ ดังนั้นจึงสร้างวิหารหลังนี้ด้านทิศเหนือของพระธาตุแทนด้านทิศตะวันออก เพราะมีพื้นที่กว้างขวางมากกว่า วิหารของวัดเจริญเมืองจึงหันหน้าไปด้านทิศเหนือสืบมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนซากวิหารหลังเก่าเมื่อครั้งเป็นวัดร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออกแต่มีขนาดเล็ก ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงให้สร้างบนพื้นที่ใหม่ทางด้านเหนือให้มีขนาดใหญ่ เพราะศรัทธาภายหน้าหมู่บ้านจะขยายมากขึ้น ชาวบ้านจะมีมากขึ้น จะได้เพียงพอเมื่อมาทำบุญที่วัด
ปัจจุบันศรัทธาวัดเจริญเมืองมี 9 หมู่บ้าน ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ให้ไปวัดขนาดและดูแบบวิหารจากวัดสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ที่ไปดูแบบขนาดวิหารวัดสวนดอกนำโดย ครูบากัญจนะ ครูบาศรีนวล (ขณะเป็นเด็กวัด) พ่อน้อยศรีลัย ของไข และพ่อน้อยทิพย์ ดวงทิพย์ (เป็นลูกศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยบรรพชาเป็นสามเณรให้) แต่วิหารของวัดเจริญเมืองปรับให้เป็นวิหารที่มีฝาผนังปิด วิหารหลังนี้มีการบูรณะล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2543
เกี่ยวกับประวัติ “ครูบากัญจนะ” (พ่อหนานกั๋น/ครูบากั๋น) ผู้มีส่วนช่วยครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างวัดเจริญเมืองนั้น บางครั้งเขียน “ครูบากัญชนะ บางครั้ง “ครูบากัญจนภาพ” เกิดแถววัดบ้านเอื้อม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ พร้อมมีใบสุทธิ ครูบากัญจนะเป็น “พระสล่า-อาลักษณ์” คือเก่งทั้งก่อสร้าง ทั้งถนัดการเขียนจารึกบนแผ่นปูนปักไว้ตามฐานเจดีย์ของพระธาตุทุกแห่ง มีบทบาทโดดเด่น ได้รับมอบหมายจากครูบาเจ้าศรีวิชัยให้ดูแลงานก่อสร้างและปฏิสังขรณ์วัดร้างในเขตอำเภอแจ้ห่ม อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ขึ้นมาจนถึงอำเภอเมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา แล้วไปสิ้นสุดอยู่ที่จังหวัดเชียงรายในเขตอำเภอป่าแดด อำเภอแม่ลาว โดยมีอำเภอพานเป็นศูนย์กลาง เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดดงนั่งคีรีชัย อำเภอแจ้ห่ม อยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเจริญเมือง อำเภอพาน
ภายหลัง พ.ศ. 2482 ครูบากัญจนะ ผู้ควบคุมการก่อสร้างและเป็นเจ้าอาวาสวัดเจริญเมือง (พ.ศ. 2476 - 2482) ได้ลาสิกขาบท กลายเป็นพ่อหนานกั๋น (ชุ่ม ฟังเสียง) ชาวบ้านได้นิมนต์ครูบาศรีนวล ญาณสิริ ลูกศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยอีกรูปมาจากอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ติดตามครูบากัญจนะมาตั้งแต่เป็นเด็กวัด หาบข้าวของมาส่งครูบากัญจนะจากอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง มาบูรณะวัดเจริญเมือง ครูบาศรีนวลเป็นเจ้าอาวาสวัดเจริญเมืองรูปที่ 2 (พ.ศ. 2482 - 2532)
พ.ศ. 2482 ครูบาศรีนวลได้สร้างศาลาการเปรียญ 1 หลัง และสร้าง “ศาลาศีลห้า” เป็นที่พักของแม่ชี 1 หลัง สร้างหอธรรม (หอพระไตรปิฎก) 1 หลัง สร้างธรรมาสน์ทรงปราสาทภายในวิหาร 1 หลัง สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2489 ใช้เวลาก่อสร้าง 7 ปี ศาลาการเปรียญที่ตั้งกู่อัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัย มีซี่ลูกกรงเป็นรูปนกยูง ครูบาศรีนวลได้แบบมาจากครูบาเจ้าศรีวิชัย
พ.ศ. 2493 สร้างยุ้งข้าวเพื่อเก็บข้าวเปลือกที่ชาวบ้านนำมาถวายทุกปี หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งปฏิบัติสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยถึงแก่มรณภาพ พ.ศ. 2482 ครูบาศรีนวล ได้ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ และได้แบ่งอัฐิส่วนหัวเข่าของครูบาเจ้าศรีวิชัยใส่ผอบมาก่อกู่ไว้ภายในศาลาการเปรียญวัดเจริญเมือง เรียก “โฮงหลวง” ครูบาศรีนวลนำอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัยมาบรรจุไว้ที่วัดเจริญเมืองในรูปแบบกู่สถูป ประดิษฐานภายในศาลาการเปรียญ (โฮงหลวง) ซึ่งครูบาศรีนวลเป็นผู้ออกแบบสร้างเอง มีลักษณะโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมคล้ายกับพระวิหารเปื๋อย (โถง) ที่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ภายในโฮงหลวงมีสารูปพระบูรพาจารย์ ๓ รูป ประกอบด้วยสารูปของครูบาเจ้าศรีวิชัยตั้งอยู่หน้ากู่อัฐิของท่าน อยู่ตรงกลางระหว่าง สารูปที่ระลึกของครูบาศรีนวล และสารูปที่ระลึกของครูบาอภิชัยขาวปี ผลงานทั้งหมดนี้สร้างในยุคพระอธิการนพรัตน์
ครูบาศรีนวลเป็นผู้ปั้นรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย (รูปยืนถือไม้เท้าที่อยู่หน้ากู่อัฐิ หรืออยู่ด้านหลังรูปหุ่นขี้ผึ้งในท่านั่งสมาธิ ปั้นโดยครูบาเจ้าศรีนวล) ในฐานะที่ท่านเป็นพระสล่า ศาลาการเปรียญนี้ยังเป็นที่เก็บต้นฉบับบล็อกแม่พิมพ์นูนต่ำสำหรับหล่อปูนปลาสเตอร์รูปครูบาเจ้าศรีวิชัยครึ่งตัว ซึ่งเป็นพิมพ์เดียวกันกับปูนปลาสเตอร์ระบายสีที่ติดอยู่รอบกู่อัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัยทั้งสี่ด้านในวิหารครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ วัดพระเจ้าตนหลวง (วัดศรีโคมคำ) จังหวัดพะเยา และยังพบที่กู่อัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัยหลังเดิมที่วัดหนองป่าครั่งอีกด้วย ทางวัดศรีโคมคำยืนยันว่าครูบาเขื่อนแก้ว คนฺธวํโส เป็นผู้สร้างแม่พิมพ์นี้ขึ้นมาก่อน ต่อมาครูบาศรีนวลได้ขอไปทำแบบพิมพ์ เพื่อหล่อปูนปลาสเตอร์รูปครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นที่ระลึกสำหรับแจกจ่ายไปให้บุคคลหรือวัดต่างๆ ที่มาร่วมทำบุญให้กับวัดเจริญเมือง ช่วงที่ก่อกู่อัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัยมีครูบาศรีนวลเป็นช่างใหญ่สร้างกู่ได้ทำการก่อตอนช่วงเย็น เมื่อบรรจุอัฐิแล้วก็นอนเฝ้าจนปูนแห้ง กันคนมาขโมยเอาอัฐิช่วงที่ปูนยังไม่แห้ง
เดือนเกี๋ยงออก 5 ค่ำ (ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 1 เหนือ) ของทุกปีมีประเพณีทานข้าวสลาก (สลากภัต) วัดเจริญเมือง มีทำต้นไทยทานอุทิศกุศลแด่ครูบาเจ้าศรีวิชัย ครูบาอภิชัย (ครูบาผ้าขาวปี) ครูบากัญจนะ ครูบาศรีนวล ตลอดจนบรรพบุรุษผู้มาสร้างบูรณะวัดเจริญเมือง มีศาลาด้านทิศใต้พระธาตุระหว่างเขตพุทธาวาสกับสังฆาวาส เมื่อมีการถวายอาหารจะมาถวายที่ศาลาหลังนี้เหมือนเมื่อครั้งครูบาเจ้าศรีวิชัย ไม่ไห้เอาอาหารของที่จะบูดเน่าเข้าไปกินในเขตพุทธาวาส ยังปฏิบัติสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
วัดเจริญเมืองมีการสืบวัตรปฏิบัติสายครูบาเจ้าศรีวิชัยมาอย่างเหนียวแน่น คือ เน้นสมถกัมมัฏฐาน ฉันมังสวิรัติ นับลูกประคำ กำหนดจิตว่า “พุทโธ” เจ้าอาวาสแต่ละรูปก็สืบเนื่องเป็นลูกศิษย์สืบสายกันมา เช่น (1) พระอธิการนพรัตน์ อินฺทปญฺโญ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน เป็นลูกศิษย์ของครูบาจำปี จนฺทวณฺโณ เจ้าอาวาสรูปที่ 3 (2) ครูบาจำปี จนฺทวณฺโณ เป็นลูกศิษย์ครูบาศรีนวล ญาณสิริ เจ้าอาวาสรูปที่ 2 และ (3) ครูบาศรีนวล ญาณสิริ เป็นลูกศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ขณะเดียวกันบทสวดมนต์ต่างๆ ทำวัตรเช้าเย็น ยังสืบทอดมาจากครูบาเจ้าศรีวิชัยและครูบาศรีนวล เช่น กัมมัฏฐานแปล คำไหว้ปารมี 30 ทัส คำไหว้ปารมี 9 ชั้น คำไหว้พระเจ้าเลียบโลก และคาถาคุณหลวง เป็นต้น