ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในดินแดนล้านนาหลายพื้นที่เราได้เห็นการสร้างพระธาตุเจดีย์ชเวดากองและพระธาตุอินทร์แขวนจำลองจำนวนมากมายหลายแห่งกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ สิ่งนี้สะท้อนถึงวัฒนธรรมประเพณีของชาวล้านนาบางกลุ่มที่มีความผูกพันต่อ “ศาสนาและความเชื่อ” ที่สืบต่อมาจากกลุ่มคน “มอญ” ในพม่า ซึ่งดิฉันได้รวบรวมการจำลองพระธาตุทั้งสองรูปแบบนี้มาทำการศึกษาไว้ดังนี้
พระธาตุเจดีย์ชเวดากองจำลอง พระธาตุเจดีย์ชเวดากองถูกผนวกมาเป็น 1 ใน 12 นักษัตรสำหรับคนเกิดปีมะเมีย (ม้า) ร่วมกับพระธาตุองค์อื่นๆ ของล้านนา แต่การจะให้คนล้านนาเดินทางไป “ชุธาตุ” ถึงเมืองย่างกุ้งประเทศพม่านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นวัดหลายแห่งจึงมีความพยายามที่จะ “จำลอง” จิตวิญญาณแห่งความเป็นชเวดากองมาใส่ในพระธาตุในดินแดนล้านนาแทน วัดแห่งแรกได้แก่ “พระบรมธาตุบ้านตาก” ตั้งอยู่ที่เกาะตะเภา อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ตามตำนานกล่าวว่าเดิมบริเวณรี้ชื่อดอยมหิยังกะ มีพระอรหันต์ 4 รูปนำพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระนลาฏ (หน้าผาก) และพระเกศาธาตุ 4 เส้นของพระพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ในเจดีย์องค์หนึ่ง ต่อมา กระบวนเสด็จของพระนางจามเทวีผ่านมา จึงได้บูรณะครั้งแรก ส่วนเจดีย์องค์ที่เห็นในปัจจุบันเป็นผลงานของพระครูพิทักษ์พระบรมธาตุ (ทองอยู่ สุริโย) ราว 80 ปีที่ผ่านมา ท่านได้จาริกแสวงบุญที่ประเทศพม่า จึงนำรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบฐานกว้างที่เรียกว่า “มอญ-ม่าน-เงี้ยว” มาครอบทับเจดีย์ทรงปราสาทฐานสี่เหลี่ยมองค์เดิม พร้อมสร้างเจดีย์จำลองรายรอบ หรือที่ชาวล้านนาเรียก “ธาตุน้อย” ส่วนนักโบราณคดีเรียก “สถูปิกะ” มองในภาพรวมแล้ว เจดีย์ที่มีฐานกว้างประดับด้วยธาตุน้อยล้อมรอบย่อมดูคล้ายกับพระเจดีย์ชเวดากองอย่างไม่มีข้อกังขา ทำให้ช่วงทศวรรษ 2520-30 ชาวล้านนาที่เกิดปีมะเมียนิยมไปกราบนมัสการพระบรมธาตุที่บ้านตากกัน ต่อมาราวปี 2530 วัดแห่งที่สองที่ดำเนินตามแนวคิดการใช้จำนวน “สถูปิกะ” องค์เล็กองค์น้อยตกแต่งรายรอบพระธาตุองค์กลางให้ดูโดดเด่นก็คือ “วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี” อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ สร้างโดยครูบามนตรี ทำให้เกิดการแบ่งความสำคัญของ “พระธาตุชเวดากองจำลอง” ออกไปเป็น 2 พื้นที่ คือกลุ่มแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ที่อยู่ใกล้เมืองตาก ก็ลงไปชุธาตุที่พระบรมธาตุบ้านตาก ใครอยู่ค่อนไปทางล้านนาตะวันออก เช่นแพร่ น่าน พะเยา เชียงราย ก็ลงมากราบพระธาตุสุโทนแทน
กระทั่งในปลายทศวรรษ 30 – ต้นทศวรรษ 40 ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา หรือ “ครูบาวงค์” แห่งวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ศิษย์เอกรูปสำคัญของครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้เห็นในนิมิตว่าบริเวณ “หนองวัวเฒ่า” (จุดที่สร้างพระเจดีย์ศรีเวียงชัยปัจจุบัน อยู่ด้านหลังไกลออกไปนอกเขตวัดพระพุทธบาทห้วยต้มเล็กน้อย) ในอดีตชาตินั้นแผ่นดินผืนนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง คือเมื่อกาลก่อนพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น “โคอุสุภราช” ได้อาศัยอยู่บริเวณนี้ โคอุสุภราชกําเนิดมาแต่พ่อวัวและแม่วัวแดง ที่ทำมาหากินบริเวณหนองวัวเฒ่าแห่งนี้มา เมื่อเห็นนิมิตแล้ว ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาได้มีมโนปณิธานอันมุ่งมั่นตั้งใจจะจำลองความศักดิ์สิทธิ์ของ “พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง” หรือ “พระธาตุสิงคุตตระ” หรือ “สิงห์กุตระ” ของชาวมอญ มาประดิษฐาน ณ เมืองนักบุญถิ่นครูบาเวียงลี้
หาใช่นำมาแค่เพียงองค์ประกอบของ “สถูปิกะ” หรือเจดีย์จำลองขนาดเล็กที่ตั้งอยู่รายรอบพระเจดีย์ประธานเท่านั้นไม่ สถูปิกะชั้นนอกจำนวน 28 องค์ หมายถึงอดีตพุทธเจ้า 28 พระองค์ สถูปิกะชั้นใน 10 องค์ หมายถึงพระโพธิสัตว์ในทศชาติสุดท้าย
นอกจากนี้ องค์พระธาตุเองยังมีคุณค่าในเชิงสัญลักษณ์ที่ต้องการสื่อว่า เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของอดีตพระพุทธเจ้าที่ผ่านมาแล้ว 4 พระองค์ในภัทรกัป ดุจดังมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง (คือเจดีย์ทั่วไปมักบรรจุแค่พระบรมสารีริกธาตุส่วนใดส่วนหนึ่งของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเท่านั้น) โดยที่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาได้จาริกไปยังประเทศพม่า ติดต่อกับคณะสงฆ์พม่าโดยตรงเพื่อขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของอดีตพระพุทธเจ้า 4 พระองค์มาประดิษฐานที่เวียงลี้ ความที่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนามีความเป็น “พระสล่า” ในตัวอยู่แล้ว ผ่านการฝึกฝนฝีไม้ลายมือเชิงช่างจากครูบาเจ้าศรีวิชัยและครูบาอภิชัยขาวปีจนช่ำชอง ท่านจึงได้ออกแบบ “เจติยสถานระดับโลก” และควบคุมการก่อสร้างทุกรายละเอียดด้วยตัวเอง
“พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย” ถือเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของครูบาชัยยะวงศาพัฒนาก่อนที่ท่านจะละสังขารไปในปี พ.ศ. 2543 ด้วยวัย 81 ปี เป็นการประจงออกแบบ จัดวางรายละเอียดในทุกองค์ประกอบด้วยความสุขุมคัมภีรภาพ ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดของสถาปัตยกรรมล้านนาบนแผ่นดินสยาม ที่อลังการทั้งด้านทรวดทรง สัดส่วน โครงสร้างภายในแข็งแกร่งด้วยก้อนศิลาแลงจากเวียงลี้ พื้นผิวที่บุทองจังโกสุกปลั่ง ขนาดของมหาสถูปเด่นตระหง่าน ยิ่งใหญ่ทั้งในด้านประวัติความเป็นมา นับแต่การปรากฏขึ้นของ “พระบรมธาตุเจดีย์ศรีหริภุญไชย” ยุคแรกสร้างสมัยพระญาอาทิตยราช พ.ศ. 1600 และได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ช่วงฉลองสหัสวรรษ พ.ศ. 2000ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ณ แผ่นดินล้านนาอาจจะกล่าวได้ว่ายังไม่มีพระบรมธาตุองค์อื่นใดที่ได้รับการกล่าวขานถึงในลักษณะยกย่องชื่นชมว่าศักดิ์สิทธิ์และงดงามดุจเนรมิตเทียมเท่าหรือยิ่งไปกว่านี้อีกเลย
พระธาตุอินทร์แขวนจำลอง
ชาวล้านนาอีกกลุ่มหนึ่งได้มีการจำลองพระธาตุอินทร์แขวน โดยใช้สัญลักษณ์ก้อนหินรูปกลมใหญ่ตั้งวางทับภูเขาหินอีกก้อน ซึ่งเรียกเป็นภาษาล้านนาว่า “ผาไข่” หรือพระธาตุ “ผาไข่อินทร์แขวน” (ผา=ก้อนหิน) พระธาตุผาไข่อินทร์แขวนจำลอง องค์สำคัญแห่งแรกที่อยากแนะนำให้รู้จักคือ องค์ที่ตั้งอยู่บนเขาขนาดย่อมริมพิงคนที ตำบลบ้านนา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ซึ่งเป็นส่วนต่อเชื่อมกับอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง (อุทยานนี้ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ลำพูน เชียงใหม่ ตาก) เลยจากสำนักสงฆ์พระบรมธาตุแก่งสร้อย เลาะเลียบตามลำน้ำปิงลงไปทางใต้ (เส้นไปอำเภอผาเงาเมืองตาก) ประมาณ 10-12 กิโลเมตร (45 นาทีจากแก่งสร้อย) ซ้ายมือจะพบ “พระธาตุผาไข่อินทร์แขวน” การจะขึ้นไปสักการะพระธาตุผาไข่นั้น ต้องปีนป่ายภูเขาสูงชันเป็นระยะๆ บางช่วงเป็นกองหินระเกะระกะ บางช่วงมีบันไดหินรองรับ ใช้เวลาในการป่ายปีนประมาณ 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง มีข้อสังเกตว่าภูเขาที่ตั้ง “พระธาตุผาไข่” นั้น ทั้งลูกประกอบด้วยก้อนหินกลมๆ ลูกใหญ่น้อยเรียงรายเต็มลำน้ำปิง ผิดกับภูเขาลูกอื่นๆ ในละแวกนั้นที่มักเป็นภูเขาหินงอกหินย้อยหินปูน หินแกรนิต หินดินดาน แต่หินที่นี่เป็นหินแข็งเนื้อเกลี้ยงเกลา แต่ละก้อนกลมมน เหมือนว่ามีใครมาขัดเงา องค์พระธาตุผาไข่นั้นเอง ก็ประกอบด้วยหินมนขนาดใหญ่ตั้งยองทับกันสองก้อน ในลักษณะหมิ่นเหม่ เอียงกะเท่เร่ คล้ายจะหลุดร่วงตกลงมาแต่ก็ไม่ตก เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สามารถอธิบายได้ทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางศาสนา องค์พระธาตุผาไข่นั้นเอง ก็ประกอบด้วยหินมนขนาดใหญ่ตั้งยองทับกันสองก้อน ในลักษณะหมิ่นเหม่ เอียงกะเท่เร่ คล้ายจะหลุดร่วงตกลงมาแต่ก็ไม่ตก เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สามารถอธิบายได้ทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางศาสนา การซ้อนกันของหินสองก้อนหมายถึง การที่พระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ได้ช่วย “ฤๅษีติสสะ” (ผู้ได้รับมอบเกศาของพระพุทธเจ้า) หาก้อนหินมาประดิษฐานเส้นเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ ในช่วงที่ติสสะใกล้จะละสังขาร เขากลัวว่าจะไม่สามารถรักษาเกศานี้ไว้ได้ จึงวิงวอนให้พระอินทร์มาช่วยหาที่เก็บพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าอย่างมิดชิดและปลอดภัย พระอินทร์จึงได้งมเอาก้อนหินจากมหาสมุทรขึ้นมา 1 ก้อน บรรจุเกศาแทรกในก้อนหินนั้น แล้วนำมาวางบนภูเขา แต่แทนที่จะวางแบบธรรมดาให้หินทับกันตรงๆ กลับตั้งใจวางเอียงๆ ให้แตกต่างจากหินลูกอื่น เป็นสัญลักษณ์ว่าพระอินทร์เอาก้อนหินมาแขวนไว้คล้ายว่าลอยอยู่ในนภากาศ ใต้ก้อนหินมีช่องระบายถ่ายเท เพื่อให้เส้นเกศาสามารถหายใจได้ ที่ “ไจ้ก์ทิโย” ในเมืองสะเทิมบางมุมของใต้ท้องก้อนหินมีช่องว่างมากพอขนาดสัตว์ปีกบินลอดไปมาได้ ที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นคือ บริเวณใกล้กับพระธาตุผาไข่กลางพิงคนทีเมืองตากนี้ พบรอยพระพุทธบาทข้างขวาปิดทองคำเปลวด้วย ได้รับการบูรณะโดยครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของครูบาป่านิกร หัวหน้าสำนักสงฆ์พระบรมธาตุแก่งสร้อย ครูบาวงค์จึงได้มอบหมายให้ครูบาป่านิกรทำการดูแลพระธาตุผาไข่และรอยพระพุทธบาทนี้สืบมา นานๆ ครั้งจะมีการนำญาติโยมเตียวขึ้นดอยไปสรงน้ำพระธาตุ เนื่องจากความไม่สะดวกในการเดินทาง ถือว่าเป็นเรื่อง “อันซีน” มาก ที่พบภูเขาศักดิ์สิทธิ์ บนยอดเขามีทั้งรอยพระพุทธบาท กับพระธาตุผาไข่อินทร์แขวน ตามคติชาวมอญโบราณ ดิฉันจึงตั้งคำถามว่า เมื่อราว 1,300 ปีเศษที่ผ่านมา ช่วงที่ขบวนเสด็จทางชลมารคของพระนางจามเทวีที่ขึ้นมาจากละโว้แล้วแวะพักที่บริเวณแก่งสร้อยนานนับเดือนนั้น ไพร่พลบริวารของพระนางจะมีใครสักคนสำรวจพบพระธาตุอินทร์แขวนแล้วพาพระนางจามเทวีให้ขึ้นไปสักการะพระธาตุผาไข่บ้างหรือไม่ ถือเป็นเรื่องน่าสนุกทีเดียวหากเราช่วยกันตั้งคำถาม เหตุที่คติการเคารพพระธาตุอินทร์แขวนนี้เป็นความเชื่อของชาวมอญสะเทิม ซึ่งเจ้าชายรามราช ผู้เป็นสวามีพระนางจามเทวีก็เป็นชาวมอญสะเทิมเช่นเดียวกัน อีกทั้งลักษณะการยองตัวกันของหินสองก้อนของพระธาตุผาไข่นั้น น่าจะมีขึ้นนานเกินกว่า 1,300-1,400 ปี ก่อนยุคของพระนางจามเทวีจะเสด็จผ่าน อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ยังเป็นปริศนา นอกจากนี้แล้ว ในล้านนายังมีปรากฏการณ์ที่ก้อนหินสองก้อนทับกันหรือยองกันแบบเอียงกะเท่เร่ ในลักษณะจะตกแหล่มิตกแหล่อีกหลายแห่ง เช่น พระธาตุดอยน้อย (ดอยหล่อ) เชียงใหม่ (แห่งนี้ทราบมาว่าเป็นการจำลองสร้างขึ้นมาเองไม่กี่ปีมานี้ ไม่ใช่ธรรมชาติที่มีมาแต่เดิม) ส่วนที่ด้านหลังวัดพระธาตุทรายทอง ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูนนั้น ก็พบรอยพระพุทธบาทและพระธาตุอินทร์แขวนในที่แห่งเดียวกัน กล่าวกันว่า เป็นผาไข่อินทร์แขวนที่เกิดจากก้อนหินทับกันตามธรรมชาติและมีความศักดิ์สิทธิ์มากเช่นกัน