“จอมเจดีย์” และ “สัตตมหาสถาน” แนวคิดการสถาปนาพระธาตุสำคัญของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 29 ต.ค. 2564, 13:56

“จอมเจดีย์” และ “สัตตมหาสถาน” แนวคิดการสถาปนาพระธาตุสำคัญของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

พระบรมธาตุจอมเจดีย์แห่งสยาม

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวิชาการประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยตรัสว่า “ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งพระบวรพุทธศาสนา ทำให้มีพุทธสถานกระจายกล่นเกลื่อนอยู่นับพันแห่ง มีอายุและแบบศิลปกรรมแตกต่างกันตามคตินิยมของแต่ละยุคสมัย ทว่าในบรรดาปูชนียสถานนับพันนี้มีเพียง 8 แห่งเท่านั้นที่สมควรได้รับการยกย่องให้เป็น “จอมเจดีย์” สมเด็จในกรมจึงได้อัญเชิญคำว่า “จอม” มาจากพระนามของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 พระราชบิดาของพระองค์ มาถวายแด่เจดีย์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องจากในช่วงระยะเวลา 27 พรรษาแห่งการทรงผนวชของรัชกาลที่ 4 นั้นได้ทรงเสด็จภิกขาจารไปยังเมืองโบราณสำคัญทั่วแผ่นดินสยาม และทรงพระราชทานพระราชวินิจฉัยแก่พระราชโอรสองค์นี้เป็นเบื้องต้น ถึงปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดของแผ่นดินสยามว่ามีที่ไหนบ้าง “จอมเจดีย์” ทั้งแปดนี้จัดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายถึงเหตุผลประกอบการเชิดชูไว้ดังนี้

  1. พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เหตุเพราะสร้างเมื่อแรกพระพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานในสยามประเทศ
  2. พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี เหตุเพราะเป็นสถูปองค์แรกในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในสยามประเทศ
  3. พระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่สร้างก่อนองค์อื่นในแคว้นล้านนา
  4. พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่สร้างก่อนองค์อื่นในภาคอีสาน
  5. พระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เหตุเพราะเป็นเจดีย์องค์แรกในการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย
  6. พระมหาธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อพุทธศาสนาลังกาวงศ์สถาปนาในสยามประเทศ
  7. พระเจดีย์ช้างล้อม อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงสร้างเฉลิมพระเกียรติ
  8. พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างเฉลิมพระเกียรติเมื่อครั้งทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยเหนือพระมหาอุปราชแห่งกรุงหงสาวดี พระเจดีย์ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น “จอมเจดีย์” ทั้ง 8 นี้ ถูกกำหนดให้พระมหากษัตริย์เมื่อแรกเสวยราชย์ ต้องเสด็จพระราชดำเนินไปสักการะถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนพิธีบรมราชาภิเษกที่สมบูรณ์แบบ

มีข้อสังเกตว่ากฎเกณฑ์ในการคัดเลือก “จอมเจดีย์” นั้น สมเด็จในกรมใช้ความเก่าแก่ที่สุดของพระเจดีย์ในแต่ละภูมิภาคเป็นเงื่อนไขหลักจำนวน 5 ภูมิภาค ภาคกลาง-พระปฐมเจดีย์ ภาคเหนือตอนบน-พระธาตุหริภุญไชย ภาคเหนือตอนล่าง-พระมหาธาตุเชลียงสุโขทัย ภาคใต้-พระมหาธาตุนครศรีธรรมราช และภาคอีสาน-พระธาตุพนม ส่วนจอมเจดีย์ที่เหลืออีก 3 องค์นั้น พบว่าใช้เกณฑ์คัดเลือกจากอดีตราชธานีที่มีสายสัมพันธ์โดยตรงต่อราชวงศ์จักรี ปรกอบด้วยกรุงศรีอยุธยา กรุงสุโขทัย และกรุงละโว้ ในฐานะเป็นต้นราชวงศ์ที่สืบสายกันมา ในส่วนของกรุงศรีอยุธยานั้นได้เลือกที่จะเชิดชูสมเด็จพระนเรศวรมหาราชผู้ปกป้องแผ่นดินสยาม แทนที่จะเชิดชูพระเจดีย์องค์อื่นๆ เช่นพระปรางค์วัดมหาธาตุอยุธยาหรือพระเจดีย์ศรีสรรเพชญ์ที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่กว่า เช่นเดียวกับที่ศรีสัชนาลัย เมืองเก่าของสุโขทัยได้รับการเชิดชูมากถึงสองแห่ง แห่งหนึ่งด้วยเงื่อนไขของเจดีย์ที่เก่าที่สุดในแต่ละภูมิภาคดังได้กล่าวมาแล้ว ส่วนอีกแห่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับพระบูรพมหากษัตริย์องค์สำคัญคือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ประดิษฐ์ลายสือไท ดังที่ทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความเคารพแด่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชอย่างสูงและทรงดำเนินวิเทโศบายตามรอยด้วยการประดิษฐ์อักษรอริยกะ ส่วนจอมเจดีย์แห่งสุดท้ายนั้นระบุว่าทรงให้ความสำคัญต่อการสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายมหายานที่ละโว้ แต่มองให้ลึกแล้ว “เมืองละโว้” เปรียบเสมือน “เมืองแม่” รุ่นเก่าสุด คือเป็นเมืองแม่ทั้งของลำพูน สุโขทัย และอยุธยา การสถาปนาความสำคัญของ “จอมเจดีย์” ทั้งแปดนี้ ได้รับการยืนยันปรากฏเป็นภาพเขียนในซุ้มคูหาพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ช่องคูหาเจาะลึกในผนัง 8 ห้อง เป็นคูหาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยมีพระราชประสงค์จะให้เขียนภาพ แต่ยังมิทันได้ทรงกำหนดว่าจะเขียนภาพอะไร ผนังดังกล่าวถูกทิ้งค้างมาจนถึง พ.ศ.2485 สมเด็จพระวันรัต (กิตติโสภโณเถระ) เจ้าอาวาสขณะนั้นได้ถวายพระพรขอพระดำริจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขณะนั้นบั้นปลายพระชนม์ชีพทรงประทับที่ชวา) สมเด็จในกรมมีพระดำริให้กรมศิลปากรออกแบบเขียนภาพจอมเจดีย์ทั้งแปดองค์ในช่องคูหา ภายใต้การกำกับดูแลของสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เจ้าฟ้าสถาปนิกใหญ่ แต่ละภาพมีผู้ศรัทธาบริจาคเงินรับเป็นเจ้าของภาพ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระราชศรัทธารับเป็นเจ้าของภาพพระปฐมเจดีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ขณะเป็นพระอนุชาธิราช) ทรงรับเป็นเจ้าของภาพพระมหาธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช สมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงรับเป็นเจ้าของภาพพระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ชายา ทรงรับเป็นเจ้าของภาพพระธาตุพนม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา และหม่อมกอบแก้ว อาภากร ทรงรับเป็นเจ้าของภาพพระศรีรัตนมหาธาตุศรีสัชนาลัย เจ้าจอมมารดาเลื่อนในรัชกาลที่ 5 รับเป็นเจ้าของภาพพระเจดีย์ช้างล้อมศรีสัชนาลัย เจ้าจอมสมบูรณ์ในรัชกาลที่ 5 รับเป็นเจ้าของภาพพระธาตุหริภุญไชย คณะนวกะภิกษุ พ.ศ.2489 รวม 17 รูป รับเป็นเจ้าภาพพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี นอกจากนี้แล้วภายใน “วิหารพระเจ้าแดง” หรือมีอีกสองชื่อ 1. วิหารพระเจ้ากลักเกลือ 2. วิหารพระเจ้าฉันสมอ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดพระธาตุหริภุญชัย ใกล้กับสุวรรณเจดีย์ พบว่ามีการเขียนภาพ “จอมเจดีย์” ทั้งแปดด้วยสีน้ำมันบนฝาผนังแต่ละช่องด้วย ซึ่งเขียนขึ้นราว พ.ศ. 2490 เป็นระยะเวลาไล่เลี่ยกับที่มีการเขียนภาพจอมเจดีย์ที่วัดเบญจมบพิตร

พระพุทธเจดีย์สัตตมหาสถาน

นอกจากนี้แล้ว ต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังได้คัดเลือกพระธาตุบางองค์จากจอมเจดีย์ทั้ง 8 มาเชิดชูให้เป็นหนึ่งใน “สัตตมหาสถาน” หรือ “พุทธเจดียสถาน” 7 แห่งของสยามอีกด้วย สัตตมหาสถาน หมายถึงสถานที่ที่ภายหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม ณ พุทธคยาแล้ว ได้เสด็จประทับ ณ สถานที่ต่างๆ 7 แห่งเพื่อทรงเสวยวิมุติสุขแห่งละ 7 วัน รวม 49 วันหรือ 7 สัปดาห์ อนึ่ง ในประเทศไทยมีโบราณสถานที่ตั้งใจสร้างขึ้นให้เป็น “สัตตมหาสถาน” โดยตรงอยู่แล้ว ได้แก่ วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระธาตุบังปวน จังหวัดหนองคาย และที่วัดสุทัศน์เทพวราราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงปลูกต้นไม้สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับสัตตมหาสถาน ทว่าในภาพรวมของ “สัตตมหาสถานแห่งสยาม” นั้นยังไม่มี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีวินิจฉัยอุปมาอุปไมยยกเอาพระพุทธเจติยสถาน 7 แห่งที่เห็นว่าสำคัญและมีเนื้อหาสอดคล้องกับตำนานที่เกี่ยวข้องกับพุทธกิริยาของพระพุทธเจ้าในช่วงแรกของการตรัสรู้ธรรมและการเสด็จไปยังสถานที่ต่างๆ โดยที่พระองค์ไม่ได้ระบุว่าปูชนียสถานองค์ไหน เทียบได้กับสัตตมหาสถานแห่งใดบ้าง เพียงแต่กล่าวรวมๆ ดิฉันจึงทำการศึกษาต่อและขอเสนอข้อสันนิษฐานไว้ดังนี้

สัปดาห์ที่ 1 โพธิบัลลังก์ สมเด็จพระสัพพัญญูทรงประทับนั่งใต้ต้นศรีมหาโพธิ์เข้าสู่สมาบัติเป็นเวลา 7 วัน สัตตมหาสถานแห่งแรกนี้จึงควรหมายถึงพระปฐมเจดีย์ เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นพระเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดในสยาม และอยู่บริเวณศูนย์กลางของประเทศไทย นอกจากนี้รัชกาลที่ 4 ยังทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ไว้ ณ ที่แห่งนี้จำนวน 4 ต้นอีกด้วย

สัปดาห์ที่ 2 อนิมิสเจดีย์ จากนั้นพระพุทธเจ้าได้เสด็จยังทิศอีสาน ทรงประทับยืนและทอดพระเนตรโพธิบัลลังก์ด้วยตาไม่กะพริบ หรือทรงถวายเนตร ด้วยการยืนประสานพระหัตถ์ที่พระอุระ สัตตมหาสถานแห่งที่ 2 นี้จึงควรหมายถึงพระธาตุพนม เนื่องจากตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

สัปดาห์ที่ 3 รัตนจงกรมเจดีย์ หรือ จงกมเสฐ์ ทรงเสด็จกลับมาหยุด ณ หว่างกลางแห่งพระศรีมหาโพธิ์กับอนิมิสเจดีย์ ทรงอธิษฐานเดินจงกรมตลอด 7 วัน ทางแห่งจงกรมนั้นประดับด้วยเพชรพลอย แห่งที่สามควรหมายถึงพระพุทธบาทสระบุรี เนื่องจากตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างพระปฐมเจดีย์และพระธาตุพนม อีกทั้งยังมีรอยพระบาทอันหมายถึงการเดินจงกรม

สัปดาห์ที่ 4 รัตนฆรเจดีย์ ทรงเสด็จไปยังทิศเหนือ พิจารณาพระอภิธรรมปิฎก 7 วันในเรือนแก้วอันประดับไปด้วยเพชรพลอย ซึ่งเทวดาบันดาลถวาย สัตตมหาสถานแห่งที่สี่นี้ ควรหมายถึงพระพุทธชินราช พิษณุโลก เนื่องจากมีซุ้มเรือนแก้วเป็นสัญลักษณ์

สัปดาห์ที่ 5 อชปาลนิโครธ หรือต้นไทรของผู้เลี้ยงแพะ พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับเสวยวิมุตติสุขผลสมาบัติอยู่ใต้ร่มไทรที่เด็กเลี้ยงแพะหลบพักร้อน ณ ทิศอาคเนย์ หรือทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงนี้มีธิดามารสามตนมาผจญพระพุทธเจ้า สัตตมหาสถานแห่งที่ห้านี้ จึงควรหมายถึง พระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช

สัปดาห์ที่ 6 มุจลินท์ หรือราชาแห่งต้นมุจละ พระพุทธเจ้าทรงประทับเสวยวิมุตติสุขผลสมาบัติใต้ต้นจิก ขณะนั้นเกิดฝนหลงฤดู พญานาคมุจลินท์จึงได้ใช้พังพานของตนปกป้องพระพุทธเจ้าจากฝนตลอด 7 วัน สัตตมหาสถานแห่งที่ 5 ควรหมายถึงพระศรีรัตนมหาธาตุศรีสัชนาลัย เนื่องจากที่นี่มีการทำพระพุทธรูปปางนาคปรก

สัปดาห์ที่ 7 ราชายตนะ หรือที่อยู่แห่งพระราชา พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นเกดทรงรับผลสมอ บาตร ข้าวสัตตู สัตตมหาสถานแห่งที่ 7 นี้หมายถึงพระธาตุหริภุญไชยอย่างไม่มีข้อแม้ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับตำนานการรับบาตรที่พรานป่าถวายภัตตาหารให้แก่พระพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ชาวพื้นเมืองล้านนาตีความว่า พระธาตุหริภุญไชย คือพระเจดีย์ที่ทำขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาฉันผลสมอ โดยมีนัยของชื่อพระธาตุที่เขียนอีกอย่างหนึ่งว่า “หริภุญชัย” (หริตกี หมายถึง สมอ และ ภุญชะ หมายถึงการฉัน) จะเห็นว่ามีพระธาตุจากกลุ่มจอมเจดีย์จำนวน 5 องค์เท่านั้นที่ได้รับการคัดเลือกและสมัญญาให้เป็นสัตตมหาสถานซ้ำหรือทับซ้อนอีกหนึ่งสถานะ มิใช่นำจอมเจดีย์ทุกองค์มาสวมเป้นสัตตมหาสถาน ในขณะที่พุทธเจดีย์ของกลุ่มสัตตมหาสถานนี้มีวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเพิ่มพิเศษมาอีกสองแห่งได้แก่ พระพุทธบาทสระบุรี และพระพุทธชินราชพิษณุโลก

มองกลับมาเฉพาะในดินแดนล้านนา พบว่า “พระธาตุหริภุญไชย” ได้รับเกียรติจากสมเด็จในกรมยกย่องให้เป็น “จอมเจดีย์ลำดับที่สามของสยาม” และเป็น “สัตตมหาสถานในสัปดาห์สุดท้าย”

1

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เหลืออีกสองวัน Lanna Auto Sale 18-25 ธันวา 67 ที่เซ็นทรัลเ แอร์พอร์ต รถไฟฟ้าน่าใช้ราคาน่าต...

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ใช้คนเมืองมากขึ้นทุกวัน ตามท้องถนนในเชียงใหม่ทุกวันนี้รถที่ขับไปขับมาสังเกตุดูได้เลยต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าชับสวนมาหรือขับตามเรามาหลากหลายรุ่น นั่นแสดงถึงรถ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 ธ.ค. 2567, 13:13
  • |
  • 81

อีซูซุ ศาลา เชียงใหม่ จัด ISUZU 2.2 Ddi MAXFORCE พลังแรง ท้าลอง ในศูนย์ประชุมนานาชาติเชียง...

ใกล้สิ้นปีหลายค่ายรถยนต์จัดงานอีเว้นท์กันตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะค่ายอีซูซุที่มีรถยนต์ออกใหม่ทั้งเครื่องยนต์ใหม่ แรงขึ้น เร็วขึ้น วันนี้เราพาท่านไปเที่ยวชมงานนี้กันซึ่งจัดขึ้นภายในศูนย์ประชุมนานาชาติเชี...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 22 ธ.ค. 2567, 16:33
  • |
  • 99

ส่งมอบรถหรูไปอีกหนึ่งคัน ฟอร์ด 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B )

ส่งมอบรถหรูน่าใช้ให้กับลูกค้า  ฟอร์ด วีกรุ๊ปคาร์เชียงใหม่โดยที่ปรึกษาการขาย ศรสวรรค์  ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถยนต์ให้กับคุณ ชนากานต์ แซ่หล่อ รุ่นรถ 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B)ข...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 ธ.ค. 2567, 11:43
  • |
  • 79

ส่งมอบรถหรูไปอีกหนึ่งคัน ฟอร์ด Double Cab XLS 2.0L Turbo HR 6AT

ส่งมอบรถหรูน่าใช้ให้กับลูกค้า  ฟอร์ด วีกรุ๊ปคาร์เชียงใหม่โดยที่ปรึกษาการขาย พนิตสิรี  ปัญญาวชิรธรรม    ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถยนต์ให้กับ คุณ รังสรรค์ มะสุรินฟอร์ด Double Cab...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 ธ.ค. 2567, 11:37
  • |
  • 71

ส่งมอบรถหรูไปอีกหนึ่งคัน ฟอร์ด Double Cab Wildtrak 2.0L Turbo HR 6AT

ส่งมอบรถหรูน่าใช้ให้กับลูกค้า  ฟอร์ด วีกรุ๊ปคาร์เชียงใหม่   โดยที่ปรึกษาการขาย ดวงพร กิ่งจำปา ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้า คุณ นพเก้า มาสุวรรณ Ford Double Cab Wildtrak 2.0L...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 ธ.ค. 2567, 11:31
  • |
  • 88

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai PALISADE Prestige สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณฉัตรพล สุนทรไพบูลย์ (เจ้าของห้างทองอินทรีทอง กาดหลวง) Hyundai PALISADE Prestige สีขาว ขอขอบคุณที่ให...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 19 ธ.ค. 2567, 16:54
  • |
  • 88
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128