เวียงเกาะกลาง ปูนปั้นสมัยล้านนา แต่สถาปัตยกรรมเก่าถึงยุคหริภุญไชย

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 29 ต.ค. 2564, 14:01

เวียงเกาะกลาง ปูนปั้นสมัยล้านนา แต่สถาปัตยกรรมเก่าถึงยุคหริภุญไชย

เป็นเรื่องที่น่าแปลกมากที่ชื่อของ “เวียงเกาะกลาง” ไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารตำนานใดๆ เลยไม่ว่าฉบับหลวงหรือฉบับพื้นบ้าน เช่นตำนานมูลศาสนา ในตอนกล่าวถึงกระบวนเสด็จของพระนางจามเทวีที่ขึ้นมาทางลำน้ำปิง ช่วงตั้งแต่หลังจากเมืองฮอด-ดอยเต่า เรื่อยมาจนถึงตอนที่พระนางจามเทวีให้คนพุ่งธนูไปปักที่กู่ละมักนั้น

สันนิษฐานว่าคงเป็นการเขียนแบบค่อนข้างรวบรัดตัดตอนใจความสำคัญไปในลักษณะก้าวกระโดด เข้าใจว่าต้นฉบับของตำนานคงมีการสูญหาย หรือเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนอะไรบางอย่าง จึงทำให้ขาดรายละเอียดของระยะทางเสด็จเลียบเวียงที่สำคัญๆ จำนวนหลายแห่ง อาทิ เวียงหนองล่อง เวียงท่ากาน เวียงมโน รวมไปถึงเวียงเกาะกลางด้วย เวียงเกาะกลางในอดีตไม่ทราบว่าชื่ออะไรในภาษามอญ-บาลี ถือว่าเป็นเวียงที่มีความสำคัญยิ่งของลำพูน เหตุที่มีเรื่องราวมุขปาฐะกล่าวว่า บริเวณแห่งนี้คือ “ดินแดนประสูติของพระนางจามเทวี” ความเป็นมาในเรื่องชาติกำเนิดนี้ยังเป็นปริศนาอยู่ว่าพระนางประสูติ ณ สถานที่ใดกันแน่ เนื่องจากตำนานหลวงหลายฉบับระบุว่าทรงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าจักรวรรดิ (จักกวัติ) แห่งกรุงละโว้

ในขณะเดียวกัน ตำนานพื้นเมืองที่ค้นพบในลำพูนหลายฉบับ ไม่ว่าคัมภีร์ใบลานอักษรมอญ-ภาษามอญ พบที่บ้านบ่อคาว อายุประมาณ 400ปี หรือตำนานตามวัดต่างๆ ล้วนแต่เขียนขึ้นอย่างสอดคล้องกัน ว่าพระนางจามเทวีเป็นธิดาของเศรษฐีบ้านหนองดู่ หรือท่าหนองดู่ เป็นชาวมอญ (เม็ง) ป่าซาง ต่อมาถูกพญานกคาบไปตกอยู่ในสระบัวแล้วพระฤๅษีวาสุเทพเก็บมาเลี้ยง จากนั้นให้ลอยแพไปกับกระแสน้ำเพื่อไปอยู่ในราชสำนักกรุงละโว้ฐานะพระธิดาบุญธรรม ในที่สุดได้กลับคืนสู่มาตุภูมินครหริภุญไชยอีกครั้ง ปมปริศนานี้ นำมาซึ่งการจัดประชาพิจารณ์ของหน่วยงานรัฐเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของชุมชนชาวมอญที่ป่าซาง ว่าเห็นด้วยหรือไม่หากกรมศิลปากรจักขอขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดเกาะกลางเพื่อพิสูจน์หลักฐานค้นหาประวัติศาสตร์ในหน้าที่เก่าถึงยุคหริภุญไชย

นำมาซึ่งการอนุมัติงบประมาณโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ในยุคของ “หนานหล้า” หรือนายสมาน ชมภูเทพ ผู้ล่วงลับ โดยดิฉัน ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ เป็นหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ผลปรากฏว่าโบราณวัตถุที่เราค้นพบทั้งหมดจำนวนมากกว่า 2,000 ชิ้นนั้น ไม่มีชิ้นใดที่เก่าไปถึงสมัยพระนางจามเทวีเลย ยกเว้นซากโบราณสถานบางแห่ง ที่พอจะมีเค้ารากเดิมว่าน่าจะมีอายุเก่าไปถึงสมัยหริภุญไชยได้

พบอะไรในเวียงเกาะกลาง

กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นขุดแต่งโบราณสถานทั้งหมดระหว่างปี 2548-2551 จากนั้นปี 2552 เป็นขั้นตอนการบูรณปฏิสังขรณ์ และจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจนแล้วเสร็จในปี 2553 ใช้งบประมาณทั้งสิ้นราว 13 ล้านบาท พบหลักฐานสำคัญดังนี้

เจดีย์หมายท่า จุดแรกที่รถเลี้ยวเข้าสู่เวียงเกาะกลาง ด้านซ้ายมือจะพบซากเจดีย์องค์หนึ่ง ตั้งอยู่ริมถนน ชาวบ้านเรียก “เจดีย์หมายท่า” เพราะใช้เป็นเครื่องหมายเตือนให้ผู้สัญจรทางน้ำได้ทราบว่าใกล้จะถึงวัดแล้ว ให้เตรียมสัมภาระสำหรับขึ้นฝั่งได้เลย แสดงว่าถนนสายเข้าวัดเกาะกลางในอดีตเคยเป็นแม่น้ำหรือคลองมาก่อน เมื่อขุดแต่งบริเวณนี้ลึกลงไปในชั้นดินเพียงไม่เกิน 80 เซนติเมตร พบซากฐานพระวิหารอยู่ด้านหน้า กับเจดีย์ทรงกระบอกมีสายรัดคาดกลาง อยู่ด้านหลัง โดยมีฐานชุกชี 8 เหลี่ยมที่แยกส่วนเชื่อมพระเจดีย์กับพระวิหาร

พระเจดีย์ประธาน ก่ออิฐทรงปราสาทยอดระฆัง ฉัตรหักหาย บัวปากระฆังเป็นบัวฟันยักษ์ (บัวปาละ/บัวเล็บช้าง) พบร่องรอยว่าน่าจะมีการวาง “สถูปิกะ” (สถูปขนาดเล็ก) 4 ทิศรายรอบเจดีย์องค์ใหญ่ที่พื้นด้านล่าง อันเป็นต้นแบบของเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดของล้านนา องค์เรือนธาตุมีซุ้มจระนำ 4 ด้าน ภายในคูหาซุ้มเคยมีพระพุทธรูปประทับนั่งประดิษฐานอยู่ (ปัจจุบันเอาองค์ใหม่มาวาง) คูหาซุ้มมีความพิเศษมากกว่าเจดีย์สมัยล้านนาแห่งอื่น กล่าวคือทำเป็นห้องยื่นออกมามากชัดเจน เรียกว่า “ครรภธาตุ” มีลักษณะผสมระหว่างศิลปะแบบพุกามและขอม มองจากมุมบนพบว่าสร้างบนผังกากบาทยื่นแบบจัตุรมุข นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เจดีย์ประธานองค์นี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยหริภุญไชยแล้ว ต่อมาปฏิสังขรณ์ใหม่เห็นได้จากลวดลายปูนปั้นที่เป็นสมัยล้านนาแล้ว แต่ลวดลายเหล่านี้มีความคมชัดเจน เก่าแก่กว่าปูนปั้นของวัดหลายแห่งที่สร้างขึ้นในสมัยพระญาติโลกราช อาทิ วัดเจ็ดยอดในเชียงใหม่

ซากฐานพระวิหารหลวง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระเจดีย์ประธาน หันหน้าไปทิศตะวันออก พบร่องรอยของแท่งเสาศิลาแลงทรงกลมขนาดใหญ่หลายต้นตั้งเรียงราย ผังวิหารมีการย่อมุม-ย่อเก็จในส่วนที่ประดิษฐานพระประธาน เน้นการให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ จึงทำฐานชุกชีด้วยการประดับปูนปั้นบัวคว่ำบัวหงายที่ฐานปัทม์ขนาดใหญ่ เรียกว่าบัวฟันยักษ์ เช่นเดียวกับฐานปัทม์ที่ประดับปากระฆังของพระเจดีย์ประธาน เป็นลายบัวที่มีอิทธิพลของศิลปะอินเดียราชวงศ์ปาละที่ผ่านเข้ามาทางอาณาจักรพุกามสู่ยุคหริภุญไชยแล้ว จึงเป็นการยากที่จะชี้ชัดว่าพระวิหารหลวงหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยใด ระหว่างหริภุญไชยกับล้านนา?

มณฑปโขงพระเจ้าย่อมุมไม้ 28 ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกต่อเนื่องกับวิหารหลวง เครื่องบนหักพังหมดแล้ว เหลือโขงปราสาทย่อมุมไม้ 28 บนผังจัตุรัส เป็นสถาปัตยกรรมล้านนารุ่นหลัง โขงมณฑปเปิดกลวงทะลุกันสี่ด้าน ก่ออิฐเป็นกรอบซุ้มวงโค้ง (arch) คล้ายกับในพุกาม หรือที่เรียกว่าโค้งแบบโรมัน คูหาตอนกลางเคยประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่ง แต่หายไปแล้ว ใกล้กับโขงแห่งนี้พบ “พระคงดำ” 1 องค์ ฆ้องสำริดและแหวนนิล

ฐานอุโบสถ กับใบสีมาหินแบบสีมาคู่ (ปกติควรมี 8 คู่ 8 ทิศ ในที่นี้พบเพียง 5 คู่) แสดงว่าเป็นวัดหลวงหรือวัดสำคัญที่กษัตริย์อุปถัมภ์ รูปทรงใบสีมาเป็นแท่งหินธรรมชาติรุ่นเก่าไม่ได้จำหลักรูปทรงสวยงามแบบรุ่นหลัง อุโบสถหันหน้าไปทิศตะวันตก แสดงว่าครั้งหนึ่งเคยมีแม่น้ำไหลผ่านทิศตะวันตกของวัด นักโบราณคดีกำหนดอายุของโบสถ์หลังนี้จากเครื่องไม้ที่ชำรุด (เก็บในห้องคลัง) ในส่วนของช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ ว่ามีอายุราว 500 ปีเศษ ร่วมสมัยกับยุคของพระญาสามฝั่งแกน-พระญาติโลกราช

ซากฐานพระนอน ตั้งอยู่ทิศใต้ของวัด หรือด้านหลังอาคารชั่วคราวที่ใช้เก็บรักษาโบราณวัตถุภายในวัด ชาวบ้านเล่าว่าราว 50 ปีก่อนยังเคยเห็นชิ้นส่วนขององค์พระไสยาสน์ขนาดยาวราว 7-8 วา การพบวิหารพระนอนเช่นนี้ ทำให้มีการตีความไปถึงคตินิยมการทำพระพุทธรูปสี่อิริยาบถ ตามคติพุทธลังกาวงศ์ได้หรือไม่?

มณฑปกลางสระน้ำ (เขาพระสุเมรุ) ถือเป็น “ไฮไลต์” ของหลักฐานทั้งหมด ตั้งอยู่กลางทุ่งนานอกกำแพงวัด เดิมชาวบ้านเรียกว่า “ประภาคาร” แกนกลางของสถาปัตยกรรมทำเป็นแท่งเสาขนาดใหญ่ใช้รองรับหลังคาตอนบนที่หักหาย แท่งเสานี้เต็มไปด้วยเขม่าควันสีดำน่าจะเกิดจากการลงรักสำหรับปิดทอง คล้ายเป็นเสาศักดิ์สิทธิ์ อาจเป็น “เสาหลักเมือง” หรือ “เขาพระสุเมรุ” กลางสระอโนดาต ซึ่งน่าจะสร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญไชย แต่ต่อมาคนยุคหลังไม่เข้าใจที่มาที่ไป จึงนำไปใช้จุดไฟกลางคืนบอกทางสัญจรแก่ชาวเรือ การใช้เสาแท่งใหญ่เช่นนี้พบได้ทั่วไปในสถาปัตยกรรมเมืองพุกาม (เจริญขึ้นร่วมสมัยกับหริภุญไชยตอนกลางถึงตอนปลาย) แต่โดยมากในพุกามนั้นมักใช้รองรับวิหารที่มีหลังคาเป็นทรงเจดีย์ เมื่อขุดลึกลงไปในดินถึง 4-5 เมตร พบว่าพื้นล่างสุด มีการก่ออิฐเรียงเป็นแนวรูปวงกลมคล้ายกับโบราณสถานยุคเก่าที่สระมรกต ปราจีนบุรี อันมีต้นกำเนิดมาจากศิลปสมัยอมราวดีที่วิหารเมืองนาคารชุณโกณฑะในอินเดียใต้ ฐานกลมใหญ่คล้ายลานประทักษิณที่เวียงเกาะกลางยังขุดพบผางประทีปขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือร่วมสองพันชิ้น มณฑปกลางน้ำนี้มีบันไดทางขึ้นหันหน้าไปทิศตะวันตก แสดงว่าในอดีตแม่น้ำเคยไหลผ่านด้านนี้ ผิวอิฐมีร่องรอยของการถูกสายน้ำกัดกร่อนนานหลายศตวรรษ ลักษณะมณฑปกลางน้ำคล้ายคลึงกับรูปทรงของ “เขาพระสุเมรุจำลอง” ที่ประดิษฐานในวัดพระธาตุหริภุญชัย คือฐานตอนล่างทรงกลม ถัดขึ้นไปเป็นชั้นของนาคซึ่งพันเกี่ยวรัดโดยรอบและตอนบนเป็นมณฑปยอดเปิดโขงสี่ด้าน

เนินบ้านเศรษฐีอินตา อยู่นอกกำแพงวัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือใกล้ชุมชนบ้านบ่อคาว ที่ชาวมอญเชื่อกันว่าบริเวณนี้เป็นบ้านของเศรษฐีอินตา จุดประสูติของพระนางจามเทวี เนินดังกล่าวมีเศษอิฐกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ไม่ปรากฏหลักฐานด้านพุทธศิลป์ จึงเชื่อว่าเป็นเขตสังฆาวาสหรือที่ประทับของผู้สถาปนาวัดเกาะกลาง

ฐานหอพระมณเฑียรธรรม ตั้งอยู่ด้านหลังเนินบ้านเศรษฐีอินตาด้านทิศตะวันออก มีช่องประตูแคบๆ เชื่อมไปสู่เนินดิน พบฐานก่ออิฐหุ้มปูนทรงแปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ มีเพียงหินกรุอัดแน่นอยู่ภายใน สันนิษฐานว่าเป็นฐานมณฑปหอพระทรง 8 เหลี่ยมพร้อมแท่นบูชา ใช้ประกอบพิธีกรรมเฉพาะสำหรับบุคคลชั้นสูง

ประติมากรรมปูนปั้นนับสองพันชิ้นในหลุมขุดค้นที่เวียงเกาะกลาง พบเศียร-เกล็ดลำตัวพญานาค มากกว่า 100 ชิ้น ชิ้นส่วนของพระโพธิสัตว์ เทวดา กินนร กินรี อสูร ยักษิณี ทวารบาล ทั้งเศียร กร บั้นองค์ นอกจากนี้ยังมีฤๅษี นักพรต สัตว์ในป่าหิมพานต์ กิเลน มกร หงส์ นกยูง ดุรงคปักษี คชสีห์ สิงหรา และลวดลายพรรณพฤกษาอีกนับอเนกอนันต์ สิ่งที่น่าสนใจก็คือปูนปั้นเหล่านี้ไม่ได้ประดับบนผนังอาคารเหมือนกับที่วัดเจดีย์เจ็ดยอด เชียงใหม่ หรือตามมุมหลืบซอกต่างๆ ขององค์เรือนธาตุเหมือนกับที่วัดป่าสัก เชียงแสน หากแต่เป็นภาพเล่าเรื่องที่ปั้นแบบนูนสูงอยู่ในกรอบ “บราลี” (รูปสามเหลี่ยมฝักเพกา) ที่ใช้ปักอยู่โดยรอบซุ้มอาคารแต่ละชั้น ในเบื้องแรกนี้ ดิฉันขอสรุปจากทรรศนะส่วนตัวว่า บทบาทของเวียงเกาะกลางอาจเริ่มต้นมีมาแล้วตั้งแต่สมัยต้นหริภุญไชย (พุทธศตวรรษที่ 13-15) ทั้งในหน้าที่เป็นจุดผ่านกระบวนเสด็จของพระนางจามเทวี หรืออาจเชื่อมโยงกับแดนประสูติของพระนางอีกด้วย (ตามมุขปาฐะ) ต่อมาคงได้มีการสร้าง “เสาหลักเมือง” หรือ “เขาพระสุเมรุ” ขึ้น ณ ที่นี้ในฐานะเป็นศูนย์กลางของเวียงสำคัญในสมัยหริภุญไชยหลายแห่ง อาทิเวียงมโน เวียงฮอด เวียงท่ากาน เวียงเถาะ เวียงรัตนา

7

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เหลืออีกสองวัน Lanna Auto Sale 18-25 ธันวา 67 ที่เซ็นทรัลเ แอร์พอร์ต รถไฟฟ้าน่าใช้ราคาน่าต...

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ใช้คนเมืองมากขึ้นทุกวัน ตามท้องถนนในเชียงใหม่ทุกวันนี้รถที่ขับไปขับมาสังเกตุดูได้เลยต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าชับสวนมาหรือขับตามเรามาหลากหลายรุ่น นั่นแสดงถึงรถ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 ธ.ค. 2567, 13:13
  • |
  • 81

อีซูซุ ศาลา เชียงใหม่ จัด ISUZU 2.2 Ddi MAXFORCE พลังแรง ท้าลอง ในศูนย์ประชุมนานาชาติเชียง...

ใกล้สิ้นปีหลายค่ายรถยนต์จัดงานอีเว้นท์กันตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะค่ายอีซูซุที่มีรถยนต์ออกใหม่ทั้งเครื่องยนต์ใหม่ แรงขึ้น เร็วขึ้น วันนี้เราพาท่านไปเที่ยวชมงานนี้กันซึ่งจัดขึ้นภายในศูนย์ประชุมนานาชาติเชี...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 22 ธ.ค. 2567, 16:33
  • |
  • 99

ส่งมอบรถหรูไปอีกหนึ่งคัน ฟอร์ด 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B )

ส่งมอบรถหรูน่าใช้ให้กับลูกค้า  ฟอร์ด วีกรุ๊ปคาร์เชียงใหม่โดยที่ปรึกษาการขาย ศรสวรรค์  ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถยนต์ให้กับคุณ ชนากานต์ แซ่หล่อ รุ่นรถ 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B)ข...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 ธ.ค. 2567, 11:43
  • |
  • 79

ส่งมอบรถหรูไปอีกหนึ่งคัน ฟอร์ด Double Cab XLS 2.0L Turbo HR 6AT

ส่งมอบรถหรูน่าใช้ให้กับลูกค้า  ฟอร์ด วีกรุ๊ปคาร์เชียงใหม่โดยที่ปรึกษาการขาย พนิตสิรี  ปัญญาวชิรธรรม    ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถยนต์ให้กับ คุณ รังสรรค์ มะสุรินฟอร์ด Double Cab...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 ธ.ค. 2567, 11:37
  • |
  • 71

ส่งมอบรถหรูไปอีกหนึ่งคัน ฟอร์ด Double Cab Wildtrak 2.0L Turbo HR 6AT

ส่งมอบรถหรูน่าใช้ให้กับลูกค้า  ฟอร์ด วีกรุ๊ปคาร์เชียงใหม่   โดยที่ปรึกษาการขาย ดวงพร กิ่งจำปา ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้า คุณ นพเก้า มาสุวรรณ Ford Double Cab Wildtrak 2.0L...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 ธ.ค. 2567, 11:31
  • |
  • 88

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai PALISADE Prestige สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณฉัตรพล สุนทรไพบูลย์ (เจ้าของห้างทองอินทรีทอง กาดหลวง) Hyundai PALISADE Prestige สีขาว ขอขอบคุณที่ให...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 19 ธ.ค. 2567, 16:54
  • |
  • 88
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128