ที่มาของคำว่า “แจ้ห่ม” เจ้าอาวาสวัดพระธาตุมหาโปน ตำบลแจ้คอน อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เล่าให้ดิฉันฟังว่า หมายถึงเมืองของพวก “แจ๊ะ” ถูกถล่มลงมา ชาว “แจ๊ะ” คือชนเผ่าดั้งเดิมคล้ายเผ่าลัวะที่ชอบอาศัยอยู่ในที่ชื้นแฉะริมน้ำ
จากตํานานเมืองแจ้ห่มระบุว่าบริเวณอำเภอแจ้ห่มจังหวัดลำปางเดิมชื่อ “วิเชตนคร” เป็นเมืองโบราณที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 1586 โดยพระญาอาทิตยราช กษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย ได้ขยายดินแดนมาทางตอนเหนือของเขลางค์นคร จากนั้นให้ขุนนางจากหริภุญไชยมาปกครองชาวพื้นเมืองพวก “แจ๊ะ”
มีเรื่องราวเกี่ยวกับการถล่มของเมืองเกิดขึ้น ตำนานเล่าวว่า เนื่องจากผู้คนไปเก็บไข่เงือกมาปรุงอาหารแบ่งกันกินแจกคนทั้งหมู่บ้านยกเว้นแต่แม่หม้าย 1 คน ปรากฏว่าถูกคำสาปของเทวดา เมืองวิเชตนครทั้งเมืองถล่มล่มจมลง ยกเว้นแต่แม่หม้ายคนเดียว ปัจจุบันยังเหลือชื่อบ้านนามเมืองคือ “ขัวแม่หม้าย” ทางไปอำเภอเก่าทางตลาดเข้าเมืองแจ้ห่ม
แต่เจ้าอาวาสวัดดงนั่งคีรีชัย ได้วิเคราะห์ว่า การที่เมืองล่มสลายนั้นน่าจะเกิดจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่มากกว่า โดยอิงกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ร่วมสมัยกับช่วงเวียงกุมกามจมใต้บาดาลในสมัยพระญามังราย อันเป็นที่มาของการที่บ้านเมืองถูกทำลาย เหลือแต่ทุ่งนาร้าง ชาวบ้านเรียก “ทุ่งทอง” กับซากคูเมืองเก่า ชาวบ้านเรียกว่า “คูลัวะ” กว้างประมาณ 6 เมตร ลึก 3-4 เมตร อยู่ห่างจากวัดดงนั่งคีรีชัยไปทางทิศใต้ 1 กิโลเมตร ใกล้กับ “ดอยผาตาง”
ในส่วนของวัดผาแดงหลวงนั้น ตั้งอยู่ที่บ้านม่วง หมู่ที่ 6 ตําบลแจ้ห่ม ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำสอย และอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำวัง บนเนินผาเตี้ยๆ สูงจากระดับพื้นดินทางด้านทิศใต้ของวัดซึ่งเป็นทุ่งนาประมาณ 7 เมตร มีพื้นที่ 8 ไร่
ในวัดร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยนานาพันธุ์ ต้นไม้บางต้นบ่งบอกถึงอายุของวัดเป็นอย่างดี คือต้นขนุนยักษ์ (ปัจจุบันเหลือแต่ตอ) ต้นขนุนยักษ์ต้นนี้วัดเส้นรอบวงได้ถึง 7.80 เมตร ต้นมะม่วงวัดเส้นรอบวงได้ 4.20 เมตร นอกจากนั้นยังมีต้นบุนนาค ต้นกระท้อน และต้นมะม่วงที่มีเส้นรอบวงขนาด 3.50 เมตร อีกหลายต้น
จากการสัมภาษณ์เจ้าอาวาสวัดผาแดงหลวง พระครูปัญญาประสุตคุณ กล่าวว่าวัดนี้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกแตกต่างกันไปมาหลายครั้ง แรกเริ่มเดิมทีเคยชื่อ “วัดผาแดง” สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 19 โดยพระญาคําแดงเจ้าเมืองแจ้ห่ม ผู้เป็นโอรสพระญางําเมืองกษัตริย์แห่งภูกามยาว (พะเยา) ในฐานะที่พระญาคำแดงเป็นพระยุพราช สมัยก่อนแจ้ห่มเป็นพันนาหนึ่งของพะเยา อาศัยความตามพงศาวดารโยนกว่า “ขุนจอมธรรมราชบุตรของพระญาลาวเงินไปครองเมืองภูกามยาว เมื่อ จ.ศ. 458 (พ.ศ. 1639) ในจํานวนพันนาทั้งหมด 36 พันนา” และจากคําเล่าขานสืบกันมาว่า พระญาคําแดงได้ส่งช่างหลวงชื่อ สล่าคําหลู่ มาสร้างวิหารวัดผาแดง และเป็นผู้แกะสลักนาคทันต์ (คันทวย) ประดับวิหาร
ที่มาของชื่อวัดผาแดง ตามประวัติที่คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า มีผาอยู่ก้อนหนึ่ง มีนักบวชหรือพระอรหันต์มานั่งปฏิบัติธรรมอยู่ จากนั้นมีฟาน (กวาง) ตัวหนึ่งบาดเจ็บวิ่งมาแล้วเอาเลือดมาติดไว้ที่ผาก้อนใหญ่ ซึ่งสันนิษฐานว่าหินสีแดงก้อนนั้นน่าจะบรรจุอยู่ในพระธาตุเจดีย์ แต่ยังมีหินอีกก้อนหนึ่งก็มีขนาดใหญ่ คนสมัยนั้นได้ทุบทำลายไปประมาณปี 2450 กว่าๆ ด้วยคิดว่ามีของมีค่าอยู่ในนั้น
นอกจากชื่อว่าวัดผาแดงแล้ว ยังเคยมีชื่อเรียกเป็นภาษาพื้นบ้านตามเหตุการณ์และสภาพภูมิศาสตร์ เช่น “วัดนาคโก” เหตุเพราะมีนาคโผล่ออกมานั่งฟังธรรมที่วัดนี้ ต่อมาเรียก “วัดน้ำล้อม” หรือวัดทุ่งล้อม (โต้งล้อม) เพราะบริเวณรายรอบวัดเป็นทุ่งนา จากนั้นมีการเรียกว่า “วัดดอยด้วน” เพราะวัดนี้ตั้งอยู่บนเนินดินอันเป็นที่สิ้นสุดของหางดอย
ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดป่าแดง หรือวัดป่าแดงหลวง ในช่วงที่มีการเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายป่าแดงจากเมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช
จนมาถึงในปี 2263 ครูบาเจ้าหลวงอินตา เจ้าอาวาสรูปแรก มาจากวัดเชียงหมั้น (ลำปาง) ได้ชักชวนชาวบ้านในเขตบ้านม่วง ทำการแผ้วถางและบูรณะซ่อมแซมศาสนวัตถุภายในวัดป่าแดงหลวง ฟื้นฟูวัดจนมีพระสงฆ์ สามเณรอยู่จำพรรษาตลอดมา จนถึงครูบาเจ้าพรหมจักรเป็นเจ้าอาวาสได้เปลี่ยนชื่อกลับมาวัดเป็น วัดผาแดงหลวง อีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2431 เป็นต้นมา
แม้ว่าในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรไทยของกรมการศาสนาจะระบุว่า วัดสร้างเมื่อ พ.ศ. 2480 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2482 แต่ในความเป็นจริงนั้น วัดผาแดงหลวงได้รับการฟื้นฟูมานานตั้งแต่ปี 2263 แล้ว นับแต่สามารถสืบหานามของเจ้าอาวาสรูปแรกได้ ต่อมาได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 163 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2523
เสนาสนะที่สำคัญภายในวัดประกอบด้วย พระมหาธาตุเจดีย์ พระวิหาร หอธรรม พระอุโบสถ ศาลาจัตุรมุข ฯลฯ
พระธาตุเจดีย์ หรือในคัมภีร์ใบลานเรียกว่า มหาธาตุแจ้ห่ม รูปลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐฉาบปูน ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 15 เมตร สูงประมาณ 17 เมตร ลานพระเจดีย์ยาวด้านละ 30 เมตร เป็นศิลปะสกุลช่างพะเยาผสมกับสุโขทัย พระเจดีย์ทรงกลมบุทองจังโกฉลุลายดอกไม้สี่กลีบที่องค์ระฆัง มีปล้องไฉน 9 ชั้น ถัดไปเป็นปลีรองรับฉัตร 5 ชั้น ตั้งอยู่บนฐาน 8 เหลี่ยม วางทับบนเรือนธาตุยกเก็จที่มีฐานเขียงรองรับ
พระธาตุเจดีย์องค์นี้สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัด อาจเก่าแก่ไปถึงยุคเมือง “วิเชตนคร” สมัยเขลางค์นคร-หริภุญไชย เนื่องจากคนสมัยก่อนเคยค้นพบกรุพระรอดจำนวนมากมายบนยอดพระธาตุ หลังจากนั้นพระธาตุคงล่มสลายไปตามกาลเวลา มีการบูรณะขึ้นมาใหม่ในยุคของพระญาคำแดงสมัยต้นราชวงศ์ล้านนา ก่อนหน้าที่พระมหาญาณคัมภีร์จะมาบูรณะอีกครั้ง และสถาปนาให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนานิกายป่าแดงของเมืองลำปาง ภายในพระเจดีย์บรรจุโกศทองคําประดิษฐ์ลวดลาย สูงประมาณ 5 นิ้ว มีฝา 3 ชั้น ชั้นในเป็นบาตรทอง มีฝาบาตรเปิดได้ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะเป็นเม็ดขนาดเล็ก จํานวน 5 เม็ด
มีประเพณีสรงน้ำพระธาตุ ประจำปีในเดือนแปดเป็ง
พระวิหารหลวง หลังเดิมนั้นเคยเป็นวิหารโล่งไม่มีฝาผนัง เรียกว่า “วิหารเปื๋อย” หลังคาซ้อนลดหลั่นเป็น 3 ชั้น สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่หลังปัจจุบันมีการสร้างระหว่าง พ.ศ. 2460 – 2464 ในยุคที่ครูบาเจ้าธรรมลังกาเป็นเจ้าอาวาส (ร่วมสมัยกับครูบาเจ้าศรีวิชัย) ปรากฏหลักฐานการสร้างวิหารหลวง ในบันทึกท้ายใบลานธรรมเรื่อง “มหาสันติงหลวง”
ธรรมาสน์หลวงภายในพระวิหาร สร้างในช่วงครูบาเจ้าคันธาเป็นเจ้าอาวาสรูปท่ี 2 ประมาณ พ.ศ. 2300 โดยที่ตัวท่านเองเป็นผู้จารคัมภีร์ใบลานจารึกด้วยอักษรล้านนา (ตั๋วเมือง)
ในหอธรรมมีคัมภีร์ใบลานปะปนกันอยู่มากกว่า 500 ผูก (เป็นผลงานการจารตั้งแต่ปี 2263-2490 ช่วงของเจ้าอาวาสรูปที่ 1 ถึงเจ้าอาวาสรูปที่ 8) จากการสัมภาษณ์เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พระครูปัญญาประสุตคุณเล่าว่าปี 2511 สมัยที่ท่านยังเป็นสามเณร ทางวัดเคยมีการรื้อหอพระไตรเก่าลง แล้วย้ายหีดธรรมมาเก็บไว้ในพระอุโบสถ ยุคนั้นยังไม่มีนักวิชาการมาสำรวจ คัมภีร์ใบลานจึงถูกปลวกกัดกินเสียหายไปมาก และทุกวันนี้คัมภีร์คละกันสะเปะสะปะไปหมด ทางวัดเฝ้ารอผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องมาทำการจัดระบบระเบียบใหม่
กุฏิหลังเก่าสร้างปี 2475 แต่เมื่อปี 2497 เกิดไฟไหม้กุฏิ ทำให้ผ้าพระบฏเขียนเรื่องพระเวสสันดรอย่างสวยงามได้รับความเสียหายถูกไฟไหม้
ศาลาจัตุรมุข อยู่ด้านข้างพระวิหารทางทิศทิศเหนือ สร้างปี 2490 เพื่อใช้เป็นที่พักของพระภิกษุที่มาเข้าพักช่วงปริวาสกรรม
วิหารพระนอน พระนอนแกะสลักจากไม้เมื่อปี 2552 สร้างโดยชาวบ้านในชุมชนบ้านม่วง
เจ้าอาวาสวัดผาแดงหลวงเล่าว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยมาพักจำวัดอยู่ที่นี่ 2 ครั้ง ประมาณปี 2472-2473 มีเรื่องเล่ากันว่าในตอนที่ชาวบ้านรู้ข่าวว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยจะมา ได้พากันนอนคว่ำหน้าตั้งแต่ทางเข้าวัด ให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินเหยียบบนหลังเข้ามา โดยพ่อหลวง (ตาหรือปู่) ของเจ้าอาวาสวัดผาแดงหลวงได้อยู่ในเหตุการณ์จริงและรับศีลจากครูบาเจ้าศรีวิชัยมาสมาทานตลอดชั่วชีวิต
จากคำประพันธ์คร่าวของพระภิกษุท้าวสุนทรพจนกิจ ได้กล่าวถึงช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยไปทำการบูรณะพระวิหารวัดพระเจ้าตนหลวง เมืองพะเยาเมื่อปี 2465 ว่าท่านได้เดินทางขึ้นๆ ล่องๆ เส้นทางพะเยา-ลำปางหลายรอบ ระหว่างนั้นได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ มากมาย โดยท่านช่วยระดมทุนทรัพย์ทำบุญสร้างเสนาสนะให้แก่วัดป่าแดง (ผาแดงหลวง) สองรายการ ได้แก่ อุโบสถ และพระธาตุเจดีย์ ความว่า
“รอมอุโบสถ ป่าแดงชื่อวัด ร้อยแถบเจ้าทำทาน รอมเจติยะ ป่าแดงสถาน ร้อยบาทเงินงาม ท่านรอมซับเสี้ยงกลับคืนไป อยู่วัดท่งเอี้ยง เร่งคนทำหลูบพระ”
สอดคล้องกับข้อความในหนังสือ “ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิสดาร และตำนานวัดสวนดอก” ปริวรรตโดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าปี 2465 (นับแบบปัจจุบันคือต้นปี 2466) ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ลงมาจากพะเยา สร้างพระธาตุดอยเต่าคำ พระธาตุดงนั่ง วิหารพระยืนวัดอักโขชัยคีรีแล้ว จากนั้น “สร้างพระธาตุป่าแดง เสี้ยงเงิน 100 รูเปีย สำเร็จแล้วพร้อมกันในปีพุทธศักราช 2465 ท่านก็กลับขึ้นไปพะเยาตามเดิม”
จากข้อความนี้ แสดงให้เห็นว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มายังวัดผาแดงหลวง ในฐานะเป็นประธานการบูรณะพระเจดีย์โดยตรง และยังได้ร่วมทำบุญถวายปัจจัยให้แก่วัดนำไปใช้ในการก่อสร้าง “พระอุโบสถ”
พ.ศ. 2465 ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมานั้น เป็นปีที่มีการฉลองพระวิหารวัดผาแดงหลวงพอดี ซึ่งบูรณะครั้งใหญ่มานานหลายปีตั้งแต่ พ.ศ. 2461-2464 ในที่สุดได้มาทำการฉลองพระวิหารปี 2465 ตรงกับช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาบูรณะพระธาตุวัดแห่งนี้ เดิมเคยมีศาลาบาตรล้อมรอบพระวิหาร เหมือนกับที่วัดศรีหลวงแจ้ซ้อน ซึ่งเป็นผลงานของครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างระหว่างปี 2471-2475 แต่ต่อมาได้รื้อไป