อุทยานวิทย์ฯ ภาคเหนือ จัดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และกลุ่มสหกรณ์การเกษตร 7 แห่ง ภายใต้โครงการลานนา 4.0 พลิกโฉมเมืองเหนือด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (LANNA 4.0 Northern Innovation Re-Profile) ณ NSP Rice Grain Auditorium อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) หวังนำนวัตกรรมไทยช่วยเกษตรกรไทยผ่านเทคโนโลยีกำจัดแมลงและไข่แมลง ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ หรือ UTD RF ผลงานจากคณะนักวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขยายองค์ความรู้ สู่วงกว้างระดับท้องถิ่น พร้อมเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ข้าวไทย ต่อยอดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ วางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular- Green Economy: BCG Economy) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นและยั่งยืน มอบเป็นของขวัญต้อนรับศักราชใหม่แก่ชุมชนและสหกรณ์ในภาคเหนือ
ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) กล่าวว่า โครงการลานนา 4.0 พลิกโฉมเมืองเหนือ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นับเป็นโครงการหนึ่งที่เครือข่ายมหาวิทยาลัยก่อตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (แม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ) ร่วมกันผลักดันนำผลงานจากคณะนักวิจัยไทยมาใช้ให้เกิดประประโยชน์กับผลผลิตของชุมชน ดังเช่น ข้าว ซึ่งเป็นผลผลิตหลักของคนไทย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยโครงการดังกล่าวได้ดำเนินงานร่วมกับสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ โดยนำร่องกับสหกรณ์ 7 แห่ง ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตรพร้าว จำกัด, สหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด, ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดลำพูน จำกัด, สหกรณ์การเกษตรเชียงแสน จำกัด, สหกรณ์การเกษตร ห้างฉัตร จำกัด, สหกรณ์การเกษตรสว่างอารมณ์ จำกัด และ สหกรณ์การเกษตรศุภนิมิตหนองยายดา จำกัด ผ่านการใช้เทคโนโลยีการกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Uniform Thermal Distribution of Radio Frequency) หรือ UTD RF พร้อมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคด้วยตราสัญลักษณ์มาตรฐานคุณภาพ UTD RF ในทุกบรรจุภัณฑ์ข้าวที่ผ่านกระบวนการ ซึ่งสามารถช่วยกำจัดแมลงและไข่แมลงในข้าวสารได้โดยไม่ใช้สารเคมี
ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ สร้าง ตราสัญลักษณ์ สื่อสารเรื่องราวของผลผลิตข้าวแต่ละท้องถิ่นอย่างมีเอกลักษณ์ พร้อมเสริมช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านกลุ่มตลาด Modern Trade อาทิเช่น Gourmet Market, Rimping Super Market ฯลฯ ซึ่งหวังผลลัพธ์จากโครงการเกิดการเพิ่ม
มูลค่าข้าวในห่วงโซ่อุปทานกว่าร้อยละ 40 เกิดการขยายผลสู่การใช้นวัตกรรม UTD RF ในการทดแทนสารเคมีการในภาคเกษตรกรรม และเกิดเป็นแนวทางต้นแบบในการสร้างรายได้แก่เกษตรกรผ่านการเพิ่มมูลค่าสินค้าร่วมกับการใช้นวัตกรรม ผ่านการจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี จะมีผลผลิตข้าวที่ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ในโครงการจำนวนกว่า 420 ตัน เกิดการเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ต่อปี หรือประมาณ 18,000 บาทต่อปี ผ่านกลไกการบริหารจัดการของสหกรณ์ทั้งการรับซื้อข้าวที่ราคาสูงกว่าท้องตลาด รวมถึงการปันผลประจำปีของสหกรณ์ โดยจะสมาชิกเกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 17,500 ราย
รศ.ดร.สุชาดา เวียรศิลป์ หัวหน้าคณะนักวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงหลักการทำงานของเทคโนโลยีว่า เทคโนโลยีการกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Uniform Thermal Distribution of Radio Frequency, UTD RF) มีจุดเด่นคือ สามารถกำจัดแมลงได้ทุกระยะการเติบโต ตั้งแต่ไข่จนถึงตัวเต็มวัย โดยไม่ทำให้คุณภาพข้าวเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังปราศจากสารเคมีในกระบวนการ โดยหลักการทำงานได้ประยุกต์ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงคลื่นความถี่หนึ่งซึ่งมีความสามารถในการแทรกผ่านเข้าไปในชั้นโมเลกุลภายในเมล็ดข้าว ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนเป็นจำนวนล้านๆ ครั้งในเวลาหนึ่งวินาที จึงทำให้เกิดความร้อนสูงในระยะเวลาอันสั้น โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรกระบวนการดังกล่าวแล้วตั้งแต่ 2557 รวมถึงเทคโนโลยีนี้ ยังผ่านการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย และผ่านการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. แล้ว
ด้านนายวิชชา อ้างสกุล ผู้จัดการฝ่ายไปรษณีย์เขต 5 บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวเสริมอีกว่า ไปรษณีย์ไทยยินดีที่ได้มีส่วนในการช่วยเหลือชุมชนและสหกรณ์โดยเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยจำหน่ายและจัดส่งผลิตภัณฑ์จากสหกรณ์ในโครงการสู่วงกว้างมากขึ้นผ่านบริการไปรษณีย์และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซออนไลน์
https://www.thailandpostmart.com/ นับเป็นการช่วยเหลือชุมชนและสหกรณ์ต่อยอดโครงการจากต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำอย่างแท้จริง
สำหรับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) โดยเป็นศูนย์ให้บริการนวัตกรรมครบวงจร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมพร้อมให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับภูมิภาคที่ครบครัน