ตามรอยผลงานของ “หลวงโยนะการพิจิตร” (พญาตะก่า) พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์วัด

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 9 ม.ค. 2565, 18:46

ตามรอยผลงานของ “หลวงโยนะการพิจิตร” (พญาตะก่า) พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์วัด

ในระหว่างปี พ.ศ. 2557-2560 ดิฉันเรียบเรียงหนังสือเรื่อง “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ให้กับสมาคมชาวลำพูน (กรุงเทพมหานคร) ในบทที่ต้องเขียนเกี่ยวกับการทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์สังฆิกเสนาสนะในล้านนาของครูบาเจ้าศรีวิชัย มีหัวข้อหนึ่งที่ต้องเรียบเรียงคือ บทบาทของสล่ากลุ่มต่างๆ ที่คอยช่วยเหลือรับใช้ครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “หลวงโยนะการพิจิตร” หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า “หลวงโยฯ”

น่าเสียดายที่หลังจากได้ปิดต้นฉบับหนังสือครูบาเจ้าศรีวิชัยไปแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจปรู๊ฟจากโรงพิมพ์นั้น ดิฉันเพิ่งได้รับหนังสือ “ตามรอย...รองอำมาตย์เอกหลวงโยนะการพิจิตร : พญาตะก่า” จากทายาทของหลวงโยฯ สองท่านซึ่งเป็นผู้เขียนคือ คุณกัลยา และคุณศรีสุดา ธรรมพงษา แม้ข้อมูลหลายส่วนจากหนังสือเล่มนี้ไม่ทันได้นำมาใช้งานในหนังสือครูบาเจ้าศรีวิชัย ทว่าในบทความครั้งนี้ดิฉันมีความตั้งใจที่จะอ้างอิงเนื้อหาสาระจากหนังสือเล่มดังกล่าว

          รองอำมาตย์เอกหลวงโยนะการพิจิตร ต้นตระกูล “อุปะโยคิน” เป็นพ่อค้าไม้ชาวพม่าที่มีบทบาทอย่างสูงในสังคมเมืองเชียงใหม่เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยได้ประกอบคุณงามความดีมากมายเป็นที่รู้จักในหมู่เจ้านายฝ่ายเหนือและทางราชการไทยนับแต่สมัยรัชกาลที่ 5-6-7

          ท่านมีชื่อเดิมว่า “หม่องปันโหย่” หรือ “มองปันโย”/ “อูปันโย” คำว่า “ปันโย” ในภาษาพม่าแปลว่า ดอกไม้ชนิดหนึ่งในตระกูลดอกเอื้อง (กล้วยไม้) นอกจากนี้แล้วคนทั่วไปยังเรียกท่านแบบย่อๆ ว่า “หลวงโยฯ” แต่ชาวพม่าเรียกท่านว่า “พะยาตะก่า” (พญาตะก่า) คำนี้ออกเสียงเป็นภาษาพม่าว่า บะยาดะก่า หมายถึง ทายก-ทายิกา หรือคหบดีผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในการอุปถัมภ์ก่อสร้างวัดวาอาราม

          พะยาตะก่าหลวงโยนะการพิจิตร เป็นพ่อค้าไม้ที่เดินทางมาจากประเทศพม่า ไม่ใช่ประชากรล้านนาโดยตรง แต่ขึ้นอยู่ในบังคับของชาวอังกฤษ ยุคที่เข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ เอกสารเล่มอื่นระบุว่าท่านมีเชื้อสายมอญ แต่จากหนังสือเล่มที่ทายาทเขียนนี้ระบุว่าเป็นชาวพม่าที่มีเชื้อสายชนชั้นสูงจากเมืองปะกัน (พุกาม) มีบิดาชื่อ อุเย มารดาชื่อ ต่ออุ๊ ทวดชื่อ อูบะเยาะ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเมทิลา (ปัจจุบันเป็นเมืองเล็กๆ อยู่ทางทิศใต้ของเมืองมัณฑะเลย์) ครอบครัวของท่านย้ายไปอยู่ใกล้วัดกันจอง เมืองมะละแหม่ง อันเป็นเมืองที่หลวงโยฯ ถือกำเนิด ณ บ้านที่ถนนไดวอควิ่น ตำบลเยามินเส่ง อาจด้วยเหตุนี้กระมังคนทั่วไปจึงมักเข้าใจว่าหลวงโยฯ น่าจะเป็นชาวมอญเหตุที่ประชากรส่วนใหญ่ของมะละแหม่งเป็นชาวมอญ หลวงโยฯ เกิดวันพฤหัสบดี ขึ้นหกค่ำ ปีมะเส็ง จ.ศ.1207 (พ.ศ. 2388) มีพี่น้องสามคนคือ มะยี ปันโหย่ และอูมิน

          คำว่า “อู” ในภาษาพม่า จากหนังสือ “ตามรอย...พญาตะก่า” คุณกัลยาและคุณศรีสุดา ธรรมพงษา อธิบายไว้ โดยอ้างจาก หลวงพ่ออูอาสุภะ อดีตเจ้าอาวาสวัดทรายมูลม่านว่า

          “เมื่อยังหนุ่ม ชายพม่าจะถูกเรียกว่า ‘หม่อง’ เช่น ‘หม่องปันโหย่’ (บางทีเอกสารไทยเรียก ‘มองปันโย’) ครั้นเมื่อสูงอายุจะไม่เรียกว่า หม่อง แต่เรียกว่า ‘อู’ แทน ดังนั้นเมื่อมองปันโยมีอายุสูงขึ้น ท่านจะถูกเรียกว่า ‘อูปันโย’ หรือ ‘อูโย’ ดังจะเห็นได้จากจารึกที่ปรากฏบนหน้าบันวิหารวัดกวินเจาง์ใต้ เมืองมะละแหม่ง จากรึกว่าอูปันโยเมืองเชียงใหม่มาสร้างวิหารไว้ แสดงว่าหลวงโยฯ ได้กลับไปทำนุบำรุงวัดที่บ้านเกิดเมืองนอนของท่านในช่วงที่ท่านสูงอายุมากแล้ว”

          การเข้ามายังดินแดนล้านนาของหม่องปันโหย่ครั้งแรกนั้น ท่านมีอายุยังไม่ถึง 25 ปี เป็นการร่วมขบวนมากับคณะสำรวจเส้นทางรถไฟจากมะละแหม่ง ตาก ลำปาง เพื่อเชื่อมไปยังมณฑลยูนนานของมิสเตอร์ฮอลเลตต์ (Mr. Hallette) ชาวอังกฤษ ตรงกับสมัยของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ (2399-2413) 

          หลังจากนั้นหม่องปันโหย่ได้เข้ามาดินแดนล้านนาอีกรอบ ในฐานะเป็นผู้รับเช่าทำป่าไม้ในเขต “ตำบลแม่ป๋ามแม่ป๋อย” แขวงนครเชียงใหม่ การทำป่าไม้ของท่านประสบความสำเร็จต่อเนื่องอย่างยาวนานหลายทศวรรษ จนได้รับความไว้วางใจจากเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ให้เข้านอกออกในคุ้มหลวงได้ กระทั่งต่อมาหม่องปันโหย่ได้ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานในนครเชียงใหม่เป็นการถาวร

          หม่องปันโหย่เป็นผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนา มุ่งที่จะทำนุบำรุงวัดวาอารามซึ่งชำรุดทรุดโทรมด้วยกาลเวลา โดยบางครั้งก็สร้างขึ้นมาใหม่ บางครั้งก็บูรณปฏิสังขรณ์ของเดิมที่มีอยู่ หรือร่วมเป็นศรัทธาใหญ่ในการบริจาคทรัพย์และจัดหาช่างฝีมือในการซ่อม-สร้างวิหาร เจดีย์ พระพุทธรูป และสิ่งสาธารณประโยชน์ต่างๆ ไว้มากมายเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนในยุคนั้น อันเป็นที่มาของการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์ไทยต่อเนื่องถึงสามรัชกาล ดังนี้

          รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งให้เป็นรองอำมาตย์เอกหลวงโยนะการพิจิตร เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ 5 ชื่อวิจิตราภรณ์, รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสกุล “อุปะโยคิน” (Upayogin) มีความหมายว่า เป็นผู้สืบเชื้อสายจากอูบาเยาะ และรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเชียงใหม่ ได้เสด็จเยี่ยมหลวงโยฯ ซึ่งสูงวัยมากแล้วที่บ้านเป็นการส่วนพระองค์ และพระราชทานเพลิงศพเมื่อหลวงโยฯ ถึงแก่อนิจกรรม พ.ศ. 2470

          บทบาทของการที่หลวงโยฯ ได้รับฉายาว่า “พะยาตะก่า” หรือทายกผู้มีศรัทธาในการอุปถัมภ์วัดอย่างแรงกล้านั้น จากหนังสือที่ทายาทประมวลผลงานมาทั้งหมดพบว่าแบ่งได้เป็นสามประเภทหลักๆ ได้แก่ 1. สร้างและอุปถัมภ์วัดในนามของหลวงโยฯ และครอบครัวของท่านเอง เช่น วัดอุปคุตพม่า ใกล้ขัวนวรัฐ (รื้อแล้ว) 2. สร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่เจ้านายฝ่ายเหนือ อาทิ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี 3. ร่วมเป็นโยมอุปัฏฐากให้แก่พระสงฆ์ในสายพระนักพัฒนาเช่น ครูบาเถิ้ม และครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นต้น ประการหลังนี้ หลวงโยฯ ใช้วิธีทั้งบริจาคไม้ บริจาคทรัพย์ หรือส่งสล่าไปช่วยก่อสร้าง โดยตัวของหลวงโยฯ เองมีความสันทัดในการออกแบบกำหนดลวดลายและหลายแห่งท่านควบคุมการก่อสร้างเองด้วย

          การที่หลวงโยฯ และคหบดีชาวพม่าคนอื่นนิยมเข้ามาเป็นผู้อุปภัมภ์การก่อสร้างวัดจำนวนมากนั้น มีจุดมุ่งหมายสำคัญยิ่งก็เพื่อ “ไถ่โทษ” หรือ “ชำระบาป” ชดเชยกับการที่พวกตนได้ตัดต้นไม้ไปในปริมาณมาก ตามความเชื่อดั้งเดิมที่บรรพบุรุษปลูกฝังว่า ต้นไม้เป็นที่สิงสถิตของ “รุกขเทวดา” ดังนั้นเมื่อยิ่งทำลายต้นไม้จำนวนมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งจำเป็นต้องสร้างวัดเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลเพื่อขอขมากรรมต่อรุกขเทวดามากยิ่งขึ้นเท่านั้น และช่องทางหนึ่งที่คหบดีค้าไม้เหล่านี้เห็นว่าทำได้สะดวกมากที่สุด ก็คือการเข้ามาร่วมงานกับกระบวนการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ของครูบาเจ้าศรีวิชัย

          อัตลักษณ์การสร้างงานศิลปะของหลวงโยฯ มีดังนี้ 

          อัตลักษณ์ประการแรก นิยมใช้สัญลักษณ์รูปดอกไม้ประเภทดอกเอื้อง (กล้วยไม้) ประดับตามดาวเพดาน ตามผนังอาคาร ฐานพระพุทธรูป หน้าบันวิหาร หรือประดับบนซุ้มประตูโขง เนื่องจากชื่อของ “ปันโหย่” หรือ “ปันโย” นี้ ในภาษาพม่าแปลว่า “ดอกไม้” หรือดอกเอื้อง ในงานศิลปะ หลวงโยฯ จึงประดิษฐ์ลายสัญลักษณ์ให้เป็นกลีบดอกหลายกลีบ โดยดอกเอื้องนี้ มีทั้งปั้นปูน แกะไม้ ตัดกระจกปิด

          นอกจากนี้แล้ว ภรรยาคนแรกของหลวงโยฯ ที่เสียชีวิตไปคือแม่บัวแก้ว ดังนั้นนอกจากดอยเอื้องแล้วยังมีลวดลายอีกประเภทที่พบในงานก่อสร้างของหลวงโยฯ เสมอคือ ลายดอกพิกุล หรือกลีบดอกบัว (หมายเหตุ ในวัฒนธรรมล้านนา คำว่าดอกแก้ว กับดอกพิกุล คือดอกชนิดเดียวกัน)

          อัตลักษณ์ประการที่สอง หลวงโยฯ เกิดปีมะเส็ง จึงมักมีรูปสัญลักษณ์ “งูเล็ก” ประดับแทกรอยู่ในลวดลายจุดต่างๆ

          อัตลักษณ์ประการที่สาม เจดีย์ที่หลวงโยฯ สร้าง มักใช้กำแพงเตี้ยๆ ที่มีลักษณะรั้วกำแพงคล้ายใบเสมาเรียกว่า “เชนเดาง์” ล้อมรอบ

          อัตลักษณ์ประการที่สี่คือ บางครั้งมีการใช้ฐาน “ย่อเก็จ” แบบล้านนามาแทรกในเจดีย์ฐานกว้างแบบพม่า ซึ่งปกติฐานเจดีย์พม่า ไม่เคยทำฐานย่อเก็จมาก่อน 

          อัตลักษณ์ประการที่ห้าคือ มีการจัดระบบเอาตัวประติมากรรมรูปสิงห์ นรสิงห์ (มนุษย์สีหะ) หม้อดอกปูรณฆฏะ และสถูปิกะ (เจดีย์จำลอง) มาจัดวางตามชั้นฐานต่างๆ บางทีวางสลับชั้นกันไปมา ไม่ได้กำหนดรูปแบบตายตัว

          ตัวอย่างผลงานของหลวงโยฯ ที่ฝากไว้บนแผ่นดินล้านนา ชิ้นเด่นๆ มีดังนี้ 

1 สิ่งก่อสร้างบริเวณเวียงกุมกาม อำเภอสารภี ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยล้านนาเมื่อ 500 ปีก่อน หลวงโยฯ ได้ทำการบูรณะพระเจดีย์กู่คำหลวง วัดเจดีย์เหลี่ยม ทั้งองค์ตั้งแต่ฐานจรดยอด โดยใช้ช่างฝีมือชาวพม่าจำนวน 5 คน นอกจากนั้นท่านยังได้บูรณะเจดีย์วัดเสาหิน วัดช้างค้ำ วัดเกาะกลาง และวัดป่าเปอะ หมายถึงกลุ่มวัดใกล้บริเวณเวียงกุมกาม

2 บูรณะกลุ่มวัดที่มีเจดีย์ทรงพม่าแถวย่านท่าแพ ประกอบด้วย วัดเชตะวัน วัดมหาวัน วัดบุพพาราม 

3 บูรณะหอธรรม (หอพระไตรปิฎก) และวิหารลายคำในวัดพระสิงห์

4 สร้างและบูรณะเสนาสนะทั้งวัดให้แก่แสนฝาง กล่าวคือสร้างอุโบสถให้แก่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระราชบิดาและพระราชมารดา สร้างกุฏิและระฆัง บูรณะพระเจดีย์ วัดแสนฝางถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของหลวงโย และถือเป็นวัดสัญลักษณ์ประจำหลวงโยฯ ด้วย เนื่องจากหลวงโยฯ มีความผูกพันสนิทสนมกับครูบาเถิ้มแห่งวัดแสนฝางอย่างใกล้ชิด (ครูบาเถิ้มรูปเดียวกันกับที่ไปบุกเบิกการสร้างทางขึ้นสู่ดอยสุเทพร่วมกับครูบาเจ้าศรีวิชัย) ทำให้หลวงโยฯ ทุ่มเทปัจจัยมหาศาลในการบูรณะวัดแห่งนี้

5 สร้างวัดอุปคุตม่าน ใกล้สะพานนวรัฐ เป็นวัดที่หลวงโยฯ ได้ซื้อที่ดินเอง และได้สร้างถาวรวัตถุทั้งหมด เคยเป็นวัดประจำตระกูลของหลวงโยฯ มาก่อนที่จะถูกรื้อเพื่อนำสถานที่ไปใช้สร้าง “พุทธสถานเชียงใหม่” ทำให้ต่อมาทายาทของหลวงโยฯ จึงถือว่าวัดประจำตระกูลคือวัดแสนฝางแทน

6 บูรณะเจดีย์ครอบทับเจดีย์ทรงล้านนาดั้งเดิมภายในเขตคูเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ เจดีย์วัดดอกเอื้อง เจดีย์วัดหมื่นล้าน เป็นต้น

7 บูรณะเจดีย์ครอบทับเจดีย์ทรงล้านนาดั้งเดิมนอกเขตคูเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ วัดไชยมงคล (ป่ากล้วย) และวัดชัยมงคล (ริมน้ำแม่ปิง) วัดศรีดอนไชย วัดผาลาด รวมถึงวัดผางยอย อำเภอสารภีด้วย เป็นต้น

8 ผลงานชิ้นโบแดงอีกชิ้นของหลวงโยฯ คือการสร้างพระอุโบสถทรงแปดเหลี่ยมที่วัดเชียงยืน 

9 ซื้อที่ดินและสร้างเมรุเผาศพด้วยฟืนที่สุสานช้างคลาน ยังเหลือซุ้มโขงแบบพม่า

นอกจากนี้แล้ว ยังมีการร่วมส่งช่างไปช่วยสร้างและบูรณะวัดพม่า ไทใหญ่อีกหลายแห่งในเขตพื้นที่นอกจังหวัดเชียงใหม่ อาทิเช่น วัดจองคาไชยมงคล ลำปาง วัดแม่เจดีย์ เวียงป่าเป้า เชียงราย เป็นต้น

จึงอาจกล่าวได้ว่า 

“หลวงโยนะการพิจิตร”

ถือเป็นปูชนียบุคคลที่มีคุณค่ายิ่งของประวัติศาสตร์ล้านนา

16

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

NETA Chiangmai เนต้า มหิดล เชียงใหม่ เชิญท่านพบกับงาน MOTOR SHOW โปรฉ่ำรับสงกรานต์ 3-9 เมษ...

 พบกับน้องใหม่ NETA V-II⚡ ที่ @Central Chiangmai Airport (อควาเรียมชั้น G) ✨พิเศษจองรถภายในงานรับคะแนน The 1 card 5000 คะแนน🥰💭 พูดคุยกับ Neta Chiangmaiเปิดให้ทดลองขับ พร้อมจองรถได้แล้ว รายละ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 28 มี.ค. 2567, 19:59
  • |
  • 32

VOLVO Chiangmai Sweden Motors เชิญพบกับรถยนต์วอลโว่ EX30 วันที่ 3-9 เมษายน 67

  "มาเป็นครอบครัว VOLVO​ Chiangmai​ Sweden ​Motors​ ด้วยกันนะคะ"ในงาน  MOTOR Sale โปรปัง รับซัมเมอร์ ที่ลานโปรโมชั่น ชั้น จี เซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต เรามีรถยนต์ วอลโว่ เป็นรถยนต์ไฟฟ้า E...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 28 มี.ค. 2567, 18:53
  • |
  • 30

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai H-1 Elite FE สีดำ รถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณแพรพิไล มานะHyundai H-1 Elite FE สีดำ ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรายละเอียดของรถ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 28 มี.ค. 2567, 18:40
  • |
  • 25

พบรถยนต์ไฟฟ้าจาก G W M ในงาน MOTOR Sale "โปรปังรับซัมเมอร์ "3-9 เมษา 67 ชั้น G เซ็นทรัล แอ...

ขึ้นต้นปีมานี่บ้านเราก็มีงานใหญ่มากมายสำหรับค่ายรถยนต์ ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เริ่มต้นเดือนเมษายน ก็พบกับงานของคนชอบรถยนต์ จะถอยใหม่ป้ายแดงทั้งรถเครื่องยนต์สันดาปหรือรถยนต์ไฟฟ้าก็เลือกเอาได้เลยในงาน มอเต...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 26 มี.ค. 2567, 20:35
  • |
  • 54

3-9 เมษายน 67 มาพบกับรถไฟฟ้า AION Y PLUS ในงาน MOTOR Sale โปรปังรับซัมเมอร์ ที่ ชั้น G...

GAC AION เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ AION Y Plus 410 Premium ที่สุดของเอสยูวีไฟฟ้า ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตAION Y Plus 410 Premium ราคา 859,900 บาทข้อเสนอสุดพิเศษ สำหรับลูกค้าที่จองรถ AION Y Plu...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 26 มี.ค. 2567, 12:48
  • |
  • 70

งานใหญ่สำหรับคนอยากมีรถ MOTOR Sale "โปรปังรับซัมเมอร์ "3-9 เมษา 67 ชั้น G เซ็นทรัล แอร์พอร...

ขึ้นต้นปีมานี่บ้านเราก็มีงานใหญ่มากมายสำหรับค่ายรถยนต์ ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เริ่มต้นเดือนเมษายน ก็พบกับงานของคนชอบรถยนต์ จะถอยใหม่ป้ายแดงทั้งรถเครื่องยนต์สันดาปหรือรถยนต์ไฟฟ้าก็เลือกเอาได้เลยในงาน มอเต...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 25 มี.ค. 2567, 07:58
  • |
  • 76
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128