อารยศิลป์ถิ่นล้านนาฉบับนี้จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับปฐมบทจุดเริ่มต้นก่อนจะมีอาณาจักรล้านนา และก่อนจะมีอาณาจักรหริภุญไชย จึงต้องขอย้อนกลับไปสู่กรุงลวปุระหรือละโว้ ซึ่งเป็นชื่อที่พบในเอกสารตำนานโบราณที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นตั้งแต่พุทธศควรรษที่ 10 เรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่จังหวัดลพบุรี และบางส่วนของจังหวัดใกล้เคียง เช่น สระบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ อุทัยธานี เพชรบูรณ์ ฯลฯ ในอดีตเมื่อ 1,400 ปีก่อน เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ติดทะเลริมอ่าวไทยตอนบน ในยุคที่อ่าวไทยยังเป็นอ่าวลึก โดยได้รับอารยธรรมจากอินเดียตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิ ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นไปได้กลายเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดี ซึ่งชนชั้นปกครองมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับวัฒนธรรมของชนชาติมอญในเมืองสุธรรมวดี (สะเทิม) กับราชวงศ์ไศเลนทร์ (ทั้งสายจันทรวงศ์ และอาทิตยวงศ์) ทางแว่นแคว้นศรีวิชัยตอนใต้
เอกสารจีนที่นักพรตสมัยราชวงศ์ถังเดินทางมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 เรียกเมืองละโว้ว่า “หลอหู่” ระบุว่าเป็นรัฐขนาดใหญ่มาก ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างทิศตะวันตกคือเมืองศรีเกษตร (ในพม่า) และทิศตะวันออกคือ เมืองอีศานปุระ (ในกัมพูชา) ตอนบนมีรัฐชื่อ “หนีหวางกว๋า” (หมายถึงหริภุญไชย)
สำหรับสถานที่ที่ดิฉันลงเก็บข้อมูลในจังหวัดลพบุรีสามครั้ง เพื่อหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเมืองลำพูนนั้น พบว่ามีสถานที่ที่ยังหลงเหลือชื่อบ้านนามเมืองที่เกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวีอยู่จำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองลพบุรี อำเภอท่าวุ้ง และอำเภอบ้านหมี่ สถานที่เหล่านั้นประกอบด้วย 1. พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ 2. วัดนครโกษา 3. วัดเชิงท่า 4. เขาสมอคอน 5. คุ้งน้ำบางพึ่ง และบางไผ่ 6. พระพุทธบาทเขาน้อย กองบิน 2 นอกจากนี้ยังได้ลงพื้นที่สำรวจวัดสำคัญๆ เช่น พระปรางค์สามยอด ศาลพระกาฬ วัดมหาธาตุลพบุรี ปรางค์แขก บ้านเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอนคอล) วัดธรรมิกราช (วัดค้างคาว) วัดไลย์ วัดกำแพง วัดอัมพวัน เป็นต้น ซึ่งสถานที่เหล่านี้เป็นศิลปกรรมรุ่นหลังสมัยทวารวดีแล้ว คือมีทั้งศิลปะสมัยลพบุรี (ศิลปะแบบขอม) และศิลปะสมัยอยุธยา
จากการลงพื้นที่ทั้งสามครั้่ง ทำให้ทราบว่า ชาวลพบุรีส่วนใหญ่แทบไม่มีความผูกพันหรือรู้จักเรื่องราวของพระนางจามเทวีมากนัก เหตุที่ช่วงชีวิตเกือบทั้งหมดของพระนางได้สร้างคุณงามความดีให้แก่นครลำพูนและเมืองใกล้เคียงแถบลุ่มแม่น้ำปิง-วังมากกว่า แม้กระนั้น ยังมีคณะบุคคลกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่มีความรัก ความผูกพัน ความศรัทธา ต่อพระนางจามเทวี ได้รวมตัวกันก่อตั้งชมรมใช้ชื่อว่า “ชมรมลูกหลานพระแม่จามเทวี” ซึ่งคนกลุ่มนี้เองได้ให้ความอนุเคราะห์ดิฉันด้วยการพานำสำรวจแหล่งโบราณสถานต่างๆ ในพื้นที่สองครั้งแรก
ดิฉันได้ทำการศึกษาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวี สามารถประมวลได้ 5 ประเด็นดังนี้ เรื่องที่ตั้งของพระราชวังละโว้, สำนักเขาสมอคอน, เมืองรามปุระ, สถานที่แกะสลักพระแก้วขาว และเส้นทางเสด็จ
ประเด็นที่ 1 เรื่องที่ตั้งของพระราชวังละโว้
ประเด็นแรกนี้ยังหาข้อสรุปที่ลงตัวไม่ได้แน่ชัดนัก เนื่องจากผู้รู้ที่เมืองลพบุรีมีความเห็นแตกแยกเป็นสองแนวทาง
แนวทางแรกเชื่อว่า คือบริเวณเดียวกันกับพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรมศิลปากรในปัจจุบันนั่นเอง โดยให้เหตุผลว่าในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น พระองค์น่าจะทรงฟื้นเขตพระราชฐานเก่ามากกว่าที่จะเลือกทำเลใหม่เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ อีกประการคือ สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ใกล้กับโบราณสถานสำคัญๆ เช่นวัดนครโกษา ซึ่งเป็นวัดที่เก่าที่สุดในลพบุรีมีลักษณะเป็นมูลดิน มีซากสถูปฐานแปดเหลี่ยมก่ออิฐยุคทวารวดีตั้งอยู่ มีอายุสมัยร่วมกับพระนางจามเทวี คือราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 และในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ลพบุรีเองก็มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุ เศียรพระพุทธรูป ประติมากรรมปูนปั้น ดินเผา ธรรมจักร ศิลาจารึกอักษรปัลลวะและอักษรมอญ ที่มีอายุร่วมสมัยกับพระนางจามเทวีเป็นจำนวนมาก ร่องรอยคันน้ำคูดินของพระราชวังยังคงพอมองเห็นแถบสถานีรถไฟลพบุรี ซึ่งเป็นทางแคบๆ ท่ามกลางชุมชนแออัด
แนวทางที่สองเชื่อว่า พระราชวังละโว้เดิม น่าจะอยู่บริเวณใกล้กับวิทยาลัยนาฏศิลป์ลพบุรี (ปัจจุบันใช้ชื่อว่า สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) และมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี แถบบริเวณที่เรียกว่า “ทะเลชุบศร” มากกว่า เพราะพบร่องรอยของคันน้ำคูดินคล้ายพระราชวังเก่า และตั้งอยู่บนที่ดอนมากกว่า อนึ่ง ดิฉันยังไม่ได้ลงสำรวจพื้นที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ลพบุรีและมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีแต่อย่างใด เนื่องจากความจำกัดของระยะเวลา
อย่างไรก็ดี แม้ยังไม่อาจชี้ชัดถึงสถานที่ตั้งของพระราชวังโบราณ แต่เราทราบนามกษัตริย์ที่ปกครองละโว้ ผู้เป็นพระราชบิดาของพระนางจามเทวี ทรงมีพระนามว่า “พระเจ้าจักรวรรดิ” หรือบางเล่มเขียนเป็น “พระญาจักกวัติ” ดังที่ตำนานมูลศาสนากล่าวว่า
“ยังมีพระญาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า จักกวัติ เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองละโว้โพ้น พระองค์ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมแแท้จริง มีพระราชธิดาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า จามเทวี พระนางทรงตั้งอยู่ในเบญจศีลเสมอมิได้ขาดสักวันเดียว”
ประเด็นที่ 2 เรื่องสำนักเขาสมอคอน
ประเด็นนี้มีความสำคัญยิ่ง เขาสมอคอนหรือ “ธรรมิกบรรพต” เปรียบได้ดั่งสำนักตักศิลาแห่งกรุงลวปุระ เป็นที่สถิตพำนักของสุกกทันตฤๅษี (ฤๅษีสุกกทันตะ) และยังเป็นสถานที่ที่พระนางจามเทวีทรงเล่าเรียนศิลปวิทยาความรู้ทั้งฝึกศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยศาสตราวุธในวัยเยาว์จากฤๅษีสุกกทันตะ เขาสมอคอนตั้งอยู่ที่ตำบลเขาสมอคอน อําเภอท่าวุ้ง (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองลพบุรี) สภาพเป็นภูเขาหินปูนที่มีเนื้อศิลาขาวละเอียดจนค่อนไปทางคล้ายหินอ่อน มีขนาดเตี้ยๆ หลายลูกไม่ติดกันเป็นเทือกเดียว ไม่มีป่าหรือเทือกเขาอื่นแวดล้อมต่อเนื่อง มีความสูงเพียง 50-60 เมตร ตั้งอยู่กลางทุ่งซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม ในอดีตเคยบริเวณนี้เคยเป็นเกาะกลางทะเล ยังเหลือชื่อบ้านนามเมืองที่ใช้เรียกเขื่อนดินบนสันเขาที่สร้างทับตาน้ำแห่งนี้ว่า “โคกทะเล” มีการทำเขื่อนเก็บน้ำคล้ายทำนบสรีดภงศ์ของสมัยสุโขทัย แต่โคกทะเลนี้น้ำเหือดแห้งมานานกว่า 30 ปีแล้ว ในปีที่ฤดูน้ำหลากมากๆ เช่นเมื่อ 120 ปีก่อนสมัยพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5เสด็จประพาสต้นที่เมืองลพบุรี ได้บันทึกว่าเขาสมอคอนมีสภาพเป็นเกาะกลางน้ำ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินโดยทางเรือไปจนถึงเชิงเขา
จากการสัมภาษณ์คุณธนัญชัย บัวหลวง (วันที่ 20 พฤษภาคม 2562) ปราชญ์ชาวบ้านที่เขาสมอคอน อธิบายว่า ประชากรที่อาศัยอยู่รายรอบเขาสมอคอนเกินกว่า 90 % เป็นคนเชื้อสายมอญ โดยสืบสาวได้ว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นทหารมอญกลุ่มหนึ่งที่ถูกเกณฑ์มาร่วมรบกับกองทัพพม่าในสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ราว 250 กว่าปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2310) กล่าวคือเมื่อเสร็จการศึกไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับประเทศพม่าไปด้วย แต่ได้รับมอบหมายจากทหารพม่าให้ตั้งหลักแหล่งที่นี่เพื่อคอยเฝ้าสอดส่องดูความเคลื่อนไหวของประชากรชาวสยาม ดังนั้น ณ ปัจจุบันชาวมอญที่เขาสมอคอนจึงเป็นกลุ่มชนที่ไม่ค่อยอยากเปิดเผยตัวตนเท่าใดนัก และบางครั้งก็ถูกกลุ่มชนชาติพันธุ์อื่นๆ ล้อเลียนว่าเป็นพวก “ขี้ข้าพม่า” แม้กระทั่งเมื่อมีกระบวนการฟื้นฟูกลุ่มชนชาวมอญในลพบุรีขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดอัมพวัน ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง กลางจังหวัดลพบุรี ชาวมอญจากเขาสมอคอนก็ไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมทำกิจกรรมใดๆ กับชาวมอญกลุ่มอื่นๆ ที่อพยพเข้ามาสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นมอญคนละกลุ่มกัน
บนเขาสมอคอนมีถ้ำหลายแห่ง ได้แก่ ถ้ำช้างเผือก ถ้ำตะโก ถ้ำเขาสมอคอน ถ้ำเหล่านี้ปัจจุบันพัฒนาขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษา เป็นพื้นที่ที่มีลิงป่าอาศัยอยู่จำนวนมากไม่แพ้ฝูงลิงใจกลางเมืองลพบุรี ข้อสำคัญได้พบก้อนหินธรรมชาติหล่นทับกันจนเกิดเป็นรูปร่างหน้าตาละม้ายคล้ายกับลิงอีกด้วย โดยชาวบ้านละแวกนั้นเรียกขานกันว่า “เขาไอ้จ๋อ” ถือว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจเหตุที่เขาลูกนี้มีตำนานเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับหนุมานอยู่ก่อนแล้ว
นอกจากนี้ชื่อของเขาสมอคอน ยังมีความเกี่ยวข้องกับ “เขาสรรพยา” ในจังหวัดชัยนาทอีกด้วย ซึ่งชื่อเหล่านี้นำมาจากวรรณคดีเรื่องรามายนะ (เหตุที่ใช้คำว่ารามายนะ ไม่ใช้คำว่ารามเกียรติ์ เนื่องมาจากคำว่ารามเกียรติ์เพิ่งเกิดขึ้นสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่ว่าตำนานและชื่อเขาสมอคอนมีมาก่อนแล้ว) ว่าด้วยหนุมาน ทหารเอกของพระราม ในตอนที่พระลักษมณ์ (อนุชาของพระราม) ถูกกุมภรรณ (น้องชายทศกัณฐ์) เอาหอกโมกขศักดิ์ปักร่างจนใกล้เสียชีวิต หนุมานจึงต้องเหาะไปหายาสังกรณีตรีชวา (ภาษาอินเดียเรียก “สัญชีวนี”) ซึ่งเป็น “สรรพยา” (ยาสมุนไพรนานาชนิด) ที่จะแก้พิษหอกได้ แต่ยานี้ซ่อนอยู่บนภูเขาสูงชันป่ายปีนยากลำบาก อีกทั้งหนุมานต้องต่อสู้กับเวลาอันจำกัดที่จะต้องหาสรรพยามารักษาพระลักษมณ์ให้ทันก่อนรุ่งเช้า ซึ่งหนุมานมีเวลาไม่มากพอที่จะค้นหาสรรพยาได้ทั่วทุกเขา เกรงว่าจะรุ่งสางเสียก่อนจึงได้คอนเอาภูเขามาทั้งลูกหอบมาด้วย เผอิญเหาะผ่านมาทางเมืองละโว้ซึ่งไฟกําลังลุกไหม้ตั้งแต่ครั้งที่หนุมานเอาหางกวาดเมือง แสงสว่างจากไฟทําให้มองเห็นต้นสังกรณีตรีชวาที่แทรกอยู่ท่ามกลางสรรพยาชัดเจนขึ้น หนุมานจึงถอนเอาแต่ต้นสังกรณีตรีชวาไปรักษาพระลักษมณ์ที่บาดเจ็บ แล้วทิ้งภูเขาที่คอนมาลงกลางทุ่งทะเลเพลิง ภูเขาที่ทิ้งลงมาได้ถูกไฟเผากลายเป็นหินสีขาวและมีชื่อเรียกว่า "เขาสมอคอน"
กับอีกเรื่องเล่าหนึ่งกล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระรามทรงกริ้วทศกัณฐ์มาก ทรงขว้างจักรจากทะเลชุบศร หวังจะ ให้ทศกัณฐ์แหลกลาญ แต่เผอิญจักรนั้นได้เฉี่ยวยอดเขาสูงลูกหนึ่ง เศษหินที่ถูกอํานาจจักรกระเด็นไปนั้นก็คือ หมู่เขาสมอคอนนั่นเอง ส่วนยอดเขาที่ถูกเฉี่ยวแหว่งไป ชาวเมืองต่างพากันเรียกว่าเขาช่องลพ (ปัจจุบันอยู่ในตําบลโคกกระเทียม อําเภอเมืองลพบุรี)
เชิญอ่านต่อตอนถัดไป