ราชธานีลวปุระ เมืองมาตุคามของพระนางจามเทวี

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 21 ก.พ. 2565, 02:40

ราชธานีลวปุระ เมืองมาตุคามของพระนางจามเทวี

(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

ตามหาเมืองรามปุระ 

            บริเวณคุ้งน้ำหน้าวัดบางพึ่ง ตำบลมหาสอน ไปจนถึงคุ้งน้ำวังไผ่ ตำบลบางพึ่ง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี จะเป็นเมืองของเจ้าชายรามราช ผู้เป็นพระสวามีของพระนางจามเทวีได้หรือไม่ ซึ่งตำนานบอกว่าเป็นชาวเมืองราม ในเอกสารใช้คำว่า เมืองรา/รามนคเร แต่เนื่องจากได้ทรงออกผนวช มีศรัทธาบรรพชาเป็นเพศบรรพชิต พระนางจามเทวีจึงเดินทางมายังเมืองหริภุญไชยตามคำเชิญของฤๅษีวาสุเทพเพียงลำพัง พร้อมกับทรงพระครรภ์ได้ 3 เดือน 

                เกี่ยวกับพระประวัติของเจ้าราชรามราชนั้น ตำนานจามเทวีวงส์ ฉบับภาษาบาลี ระบุว่าพระนางจามเทวีมีสถานะเป็น “หญิงหม้าย” โดยใช้คำว่า อิตฺถิวิคฺคหา 

          “เตนหิ สมฺม สุโณหิ ลโวรญฺโญ ธีตา อหุ สุชาตา รูปสมฺปนฺนา สีลวนฺตา จ ปญฺญวา นาเมน จามเทวีติ ปากฏา สพฺพโต ทิสา ตรุณา ปญฺจกลฺยาณา โสภณา อิตฺถิวิคฺคหา ตสฺสาย สามิโก ทานิ สทฺโธ ปัพฺพชิโต อหุ ยาจยิส์ สามิ ตํ ตสฺส อานยสฺสามิ ตํ อิธ เอสา นารี ปุญฺญวตี สพชฺ อภิวัฑฺฒตีติ”

                นักวิชาการกระแสหลักเคยเชื่อว่า “เมืองราม” น่าจะเกี่ยวข้องกับคำว่า “ศรีรามเทพนคร” อาจเป็นอโยธยาเก่า (บริเวณที่เก่าที่สุดของอยุธยา) ซึ่งก็ยังหาไม่พบ นอกจากนี้บางตำนานยังเรียกเมืองที่เจ้าชายรามราชครองอยู่ว่า “สิริธัมนคร” (บางท่านว่า หมายถึงสุธรรมวดีเมืองมอญในพม่า บ้างว่าหมายถึงนครศรีธรรมราช และบ้างว่าน่าจะหมายถึงนครปฐม) กระทั่งปราชญ์ท้องถิ่นลพบุรีหลายท่าน ให้ข้อสังเกตใหม่ ด้วยการสันนิษฐานว่าเมืองสิริธัมนครของเจ้าชายรามราช น่าจะตั้งอยู่ตรงบริเวณที่เรียกว่าวัดบางพึ่ง จนถึงคุงน้ำวังไผ่ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี มากกว่า เนื่องจากชาวบ้านได้ยินตำนานว่าคนเฒ่าคนแก่เคยเรียกขานบริเวณวัดบางพึ่ง และวังไผ่ว่า “เมืองราม” “รามปุระ” (รามบุรี) ซึ่งโดยหลักแล้วมีฐานะเป็นเมืองคู่หรือเมืองแฝดกับ “ลวปุระ” (ลพบุรี) ซึ่งชื่อทั้งสองนี้ “พระลพ พระราม” ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเรื่องรามายนะ เช่นเดียวกับนามของเขาสมอคอน ดังนั้นจึงมีผู้เชื่อว่า “เมืองของเจ้าชายรามราช” ไม่ควรตั้งอยู่ห่างไกลกับเมืองละโว้จนเกินไป นอกจากนี้แล้วยังมีหลักฐานด้านโบราณคดีสนับสนุน คือการพบซากโบราณวัตถุรุ่นเก่าสมัยทวารวดีกระจายตัวจำนวนมากในเมืองเก่ารามปุระ (โบราณวัตถุทั้งหมดถูกขุดคุ้ยกระจัดกระจายและนำไปครอบครองเป็นสมบัติส่วนตัวโดยเอกชน ภายหลังจากที่คณะสำรวจทางโบราณคดีของศาสตราจารย์ ดร.ผาสุข อินทราวุธ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเคยลงพื้นที่เก็บข้อมูลได้ไม่นานราว 15 ปีก่อน) น่าเสียดายที่เมืองโบราณแห่งนี้แทบไม่เหลือร่องรอยคันน้ำคูดินให้เห็นอย่างเด่นชัด พื้นที่เกือบทั้งหมดถูกแปลงสภาพให้เป็นไร่นาเกษตรกรรม         

 

สถานที่แกะสลักพระแก้วขาว 

                ณ บริเวณพระพุทธบาทเขาน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ค่ายทหาร สังกัดกองบิน 2 ลพบุรี ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนได้ทำหนังสือขออนุญาตจากผู้บังคับการกองบิน เพื่อขอให้คณะนักวิจัยและคณะเจ้าหน้าที่ขององค์กาารบริหารส่วนจังหวัดลำพูนเข้าไปทำการศึกษาสำรวจหลักฐานทางโบราณคดี พบว่าเป็นสถานที่ที่ต้องเดินเท้าขึ้นไปบนเขาสูง ระยะทางประมาณ 500 เมตร 

          ความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ตามความเชื่อของผู้ศรัทธาในพระนางจามเทวี (ชมรมลูกหลานพระแม่จามเทวีจังหวัดลพบุรี) กล่าวกันว่ามีความสำคัญถึง 2 ด้าน ด้านแรกคือ เป็นที่ที่มีการแกะสลักพระแก้วขาว (เสตังคมณี) พระพุทธรูปประจำพระองค์ของพระนางจามเทวี ซึ่งพระนางจามเทวีได้รับมอบจากพระราชบิดาให้นำติดตัวจากละโว้ไปยังหริภุญไชย และด้านที่สองคือ เป็นจุดที่พระนางจามเทวีนำกระบวนเสด็จ 7,500 ชีวิต ก่อนเคลื่อนจากละโว้สู่หริภุญไชย ให้มานมัสการรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์ที่นี่ก่อน พร้อมกับปฏิญาณสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อพระนางจามเทวี หากใครไม่สมัครใจพร้อมที่จะเดินทางไปด้วยกัน (เช่นกลัวความลำบาก หรือไม่อยากทิ้งถิ่นฐานเดิม หรือไม่อยากเสี่ยงกับชะตากรรมในอนาคต เป็นต้น) ก็สามารถถอนตัวได้ ณ สถานที่แห่งนี้ เรื่องมุขปาฐะทั้งสองเรื่องนี้ (สถานที่จำหลักพระแก้วขาว และสถานที่ปฏิญาณสาบานตน) ไม่อาจสืบสาวราวเรื่องที่มาได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อไหร่ ได้รับการบันทึกเป็นตำนานโดยใคร 

          อย่างไรก็ดี เมื่อคณะนักวิจัยลงพื้นที่สำรวจบนยอดเขาน้อยแล้ว ได้พบรอยพระพุทธบาท 1 รอย จากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่กล่าวว่า นักโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ได้เคยขึ้นมาทำการศึกษารอยพระบาทแล้ว ระบุว่ามีอายุร่วมสมัยกับรอยพระพุทธบาทสระบุรี (สมัยทวารวดี) เพราะมีรูปพรรณสัณฐาน ขนาดและลักษณะละม้ายกัน แต่รอยพระบาทบนเขาน้อยที่เราเห็น ณ ปัจจุบันเป็นการสร้างครอบทับรอยพระบาทเดิมที่ซ่อนไว้ชั้นล่าง ด้วยเหตุผลเพื่อรักษาความปลอดภัย 

                เมื่อลงมาจากยอดเขาพระบาทน้อย คณะเจ้าหน้าที่ทหารในกองบิน 2 ลพบุรี ได้พาคณะนักวิจัยไปยังสถานที่อีกแห่งหนึ่ง มีลักษณะเป็นภูเขาหินสีดำ ตอนบนมีร่องรอยของซากสถูปร้าง วิหาร บ่อน้ำ ในขณะที่ตอนล่างหรือตีนเขา ปรากฏว่าพบพระพุทธรูปแกะสลักจากหินภูเขาสีดำ ประทับนั่งที่โคนไม้โพธิ์ (ตายแห้งแล้ว พิจารณาจากสภาพของต้นโพธิ์ น่าจะมีอายุกว่า 1,000 ปี) ทางกองบิน 2 ลพบุรี ได้จัดสร้างอาคารคลุมพระพุทธรูปไว้เป็นอย่างดี มีการทาสีพระพุทธรูปใหม่ดูสดใส ทำให้เมื่อมองเผินๆ แล้วอาจคิดไปได้ว่าคงเป็นของทำขึ้นใหม่ 

          พระพุทธรูปนี้มีพุทธลักษณะเป็นประติมากรรมนูนสูง เพราะมีแผ่นหลังจำหลักติดกับเชิงเขาที่ทำด้วยหินชนวนสีดำ เป็นศิลปกรรมรุ่นเก่ากำหนดอายุได้ว่าสร้างสมัยทวารวดียุคต้น (ร่วมสมัยกับพระนางจามเทวี) ภาพใบโพธิ์ฉากหลังเป็นหินแกะสลักนูนต่ำที่ค่อนข้างลบเลือนเพราะกาลเวลา ร่องรอยชัดเจนมากว่าเป็นลายที่เน้นตุ่มกลมๆ แบบลายกระหนกผักกูดโบราณที่ทวารวดีรับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ สามารถนำลักษณะเด่นของพระพุทธองค์นี้ ไปเปรียบเทียบเชื่อมโยงกับพุทธศิลป์สมัยทวารวดีรุ่นแรกองค์อื่นๆ ได้ดังนี้

          1. การทำพระพักตร์เสี้ยมแหลม มีลักษณะเหมือนกับพระพิมพ์รุ่นเก่ามากที่พบที่อำเภอคูบัว จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

          2. รัศมีทรงกรวยแหลม ไม่ใช่บัวตูมกลมต่ำแบบทวารวดีทั่วไป อีกทั้งไม่ใช่รัศมีเปลวแบบสุโขทัย แต่เป็นทรงแหลมสูงแบบทื่อๆ ขึ้นไป ลักษณะเหมือนกับพระแก้วขาวเสตังคมณีของพระนางจามเทวี ซึ่งปัจจุบันอยู่วัดเชียงหมั้น จังหวัดเชียงใหม่ และยังคล้ายกับพระรอดหลวงลำพูน (แม่พระรอด) วัดมหาวัน จังหวัดลำพูนอีกด้วย

          3. การทำแผ่นสังฆาฏิหนาเป็นแผงใหญ่ ยังไม่ใช่รูปแบบสวยงามที่ปลายสังฆาฏิตัดเป็นเขี้ยวตะขาบแบบสุโขทัย-ล้านนา และไม่ได้ครองจีวรห่มคลุมแบบพระพุทธรูปทวารวดีทั่วไป ก็เป็นอีกหนึ่งความนิยมที่พบรูปแบบเช่นนี้มากในสกุลช่างหริภุญไชย

          4. การทำแขนกางออก แบบโก่งๆ (โคร่งๆ) คล้ายฤๅษี ไม่ประชิดลำตัว พบมากในยุคทวารวดีตอนต้น คล้ายกับพระเหล็กไหลดอยไซ ลำพูน

          5. การทำต้นพระศรีมหาโพธิ์รายรอบพระเศียรและพระวรกาย แผ่กิ่งก้านสาขาห้อยย้อยระย้าเป็นตุ่มๆ เต็มใบแบบธรรมชาติ มีลักษณะเหมือนกับกิ่งโพธิ์ที่พบที่พระพุทธรูปจากดงศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี และเหมือนกับต้นโพธิ์ของพระพิมพ์ลำพูนรุ่นแรกๆ คือพระคง พระเปิม (ใบโพธิ์ยังไม่ลดรูปเป็นกึ่งนามธรรมแบบพระรอด)

          6. ลายกระหนกผักกูด (ดูหงิกๆ งอๆ) รายรอบพระวรกาย เรียกประภามณฑล หรือประภาวลี เป็นอิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยคุปตะที่ตกทอดมายังทวารวดี พบรูปแบบนี้ที่หริภุญไชยด้วยเช่นกัน

          7. ท่าประทับนั่งแบบขัดสมาธิหลวมๆ ฝ่าพระบาทแปออกด้านหน้า ไม่ใช่ขัดสมาธิเพชร (แลเห็นฝ่าพระบาทขัดซ้อนกันสองข้าง) แบบศิลปะสมัยคุปตะ และไม่ใช่ท่านั่งสมาธิราบแบบลังกา แต่เป็นการวางขาเสมอพื้นทั้งสองขา เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของศิลปะทวารวดีและหริภุญไชยยุคแรก

          8. การวางพระกรข้างหนึ่งบนหน้าตัก และอีกข้างหักงอ ก้ำกึ่งระหว่างจะทำปางสมาธิ (แทนที่จะเอามือมาวางทับอีกมือ) ก็ไม่เชิง หรือจะทำปางมารวิชัย (ควรเอามือชี้ธรณีเป็นพยานลงไปข้างล่างเลย) ก็ไม่ใช่ เหมือนกับองค์ที่พบในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย (องค์ที่พระพักตร์ถูกถากออก) เป็นปางมารวิชัยยุคแรกรุ่นเก่า ก่อนรับอิทธิพลปางมารวิชัยทรงมาตรฐานแบบปาละ ที่พระหัตถ์ขวาของพระพุทธรูป (แต่มองจากเราจะเห็นเป็นมือซ้าย) วางพาดพระชงฆ์ (เข่า) ลงไปตรงๆ ไม่มาหักงอกลางหน้าแข้งแบบนี้

          การพบพระพุทธรูปสมัยทวารวดีองค์นี้ถือว่ามีความสำคัญมาก สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ได้กับพระพระพุทธรูปและพระพิมพ์สกุลหริภุญไชยได้เป็นอย่างดี ตอกย้ำตำนานที่ว่าพระนางจามเทวีได้นำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบสหวิทยาการจากละโว้มาวางรากฐานให้แก่นครหริภุญไชย
          นอกจากนี้แล้ว ภายในเขตกองบิน 2 ลพบุรี ยังมีเขาสามยอดอีกลูกหนึ่ง ที่พบหลักฐานด้านโบราณวัตถุ โบราณสถาน น่าจะมีอายุสมัยทวารวดีด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากคณะเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้ไปสำรวจเขาลูกนั้นนานแล้ว (เพราะหลายปีก่อนได้พบงูจงอางหลายตัว) ดังนั้นเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จึงขอไปสำรวจเบื้องต้นอีกสักรอบก่อน แล้วจะประสานคณะเรากลับมาอีกครั้ง หากคณะนักวิจัยยังมีความสนใจที่จะลงพื้นที่สำรวจทางโบราณคดีที่จังหวัดลพบุรีอีกในอนาคต

 

เส้นทางเสด็จพระนางจามเทวี 

          ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการตั้งขบวนเสด็จของพระนางจามเทวีจากละโว้ สู่นครหริภุญไชยทางชลมารค โดยที่เมืองลพบุรีมีแม่น้ำสำคัญอยู่ 3 สายหลักๆ ได้แก่

                1 แม่น้ำลพบุรี เป็นสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านตัวเมืองลพบุรีทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

          2 แม่น้ำบางขาม เป็นแม่น้ำที่เกิดจากลำรางสายเล็กๆ หลายสายไหลมารวมกันทางทิศตะวันตกของจังหวัด มาบรรจบกับแม่น้ำลพบุรีที่บริเวณหน้าเมืองลพบุรี

          3 แม่น้ำป่าสัก อยู่ห่างจากตัวเมืองลพบุรีไปทางทิศตะวันออก ซึ่งแม่น้ำสายนี้จะเชื่อมไปสู่เมืองโบราณจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และรัฐศรีเทพ (เดิมเป็นศูนย์กลางทวารวดีมาก่อนรัฐละโว้) อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 

          นักวิชาการในพื้นที่มีทั้งฝ่ายที่เชื่อว่า กระบวนเสด็จของพระนางจามเทวีควรตั้งต้นจากลพบุรีที่แม่น้ำลพบุรี ตัดไปทางแม่น้ำบางขาม ตรงวัดมณีชลขัณฑ์ มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองสิงห์บุรี แล้วออกไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นขึ้นสู่ชัยนาท กับอีกทฤษฎีหนึ่ง เชื่อว่าพระนางจามเทวีน่าจะเริ่มกระบวนเสด็จแถบเมืองรามปุระของพระราชสวามี คือจากบริเวณวัดบางพึ่ง ที่คลองบางขามเช่นเดียวกัน แต่ขึ้นไปทางเหนือออกเส้นบ้านหมี่ ตัดขึ้นไปเชื่อมกับสาขาย่อยของเจ้าพระยาที่เมืองโบราณจันเสน อำเภอตาคลี ของนครสวรรค์ แล้วจึงค่อยเข้าสู่เจ้าพระยาใหม่

          จากทำเลที่ตั้งของเมืองลพบุรีที่คณะนักวิจัยลงสำรวจ ได้ข้อสรุปว่า เมืองลพบุรีมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ทำการเกษตรกรรมขนาดใหญ่ได้ มีทั้งที่ราบลุ่มสำหรับปลูกข้าว และที่ดอนสูงสำหรับตั้งเมืองที่มีขนาดใหญ่ เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแม่น้ำ แร่ธาตุรัตนชาติ โลหะต่างๆ รวมทั้งอยู่ใกล้ทะเล ทำให้มีข้อได้เปรียบต่อการพัฒนาการให้เกิดความเจริญในด้านต่างๆ มีความเหมาะสมต่อการเป็นศูนย์กลางการติดต่อกับชุมชนภายนอก และชุมชนภายในขึ้นไปตอนบน ทุกทิศทาง

          ฉบับหน้ามาต่อถึงเส้นทางเสด็จนอกเมืองลพบุรี ว่าพระนางจามเทวีควรใช้แม่น้ำสายไหน?

10

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

พบรถยนต์ไฟฟ้าจาก G W M ในงาน MOTOR Sale "โปรปังรับซัมเมอร์ "3-9 เมษา 67 ชั้น G เซ็นทรัล แอ...

ขึ้นต้นปีมานี่บ้านเราก็มีงานใหญ่มากมายสำหรับค่ายรถยนต์ ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เริ่มต้นเดือนเมษายน ก็พบกับงานของคนชอบรถยนต์ จะถอยใหม่ป้ายแดงทั้งรถเครื่องยนต์สันดาปหรือรถยนต์ไฟฟ้าก็เลือกเอาได้เลยในงาน มอเต...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 26 มี.ค. 2567, 20:35
  • |
  • 49

3-9 เมษายน 67 มาพบกับรถไฟฟ้า AION Y PLUS ในงาน MOTOR Sale โปรปังรับซัมเมอร์ ที่ ชั้น G...

GAC AION เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ AION Y Plus 410 Premium ที่สุดของเอสยูวีไฟฟ้า ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตAION Y Plus 410 Premium ราคา 859,900 บาทข้อเสนอสุดพิเศษ สำหรับลูกค้าที่จองรถ AION Y Plu...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 26 มี.ค. 2567, 12:48
  • |
  • 65

งานใหญ่สำหรับคนอยากมีรถ MOTOR Sale "โปรปังรับซัมเมอร์ "3-9 เมษา 67 ชั้น G เซ็นทรัล แอร์พอร...

ขึ้นต้นปีมานี่บ้านเราก็มีงานใหญ่มากมายสำหรับค่ายรถยนต์ ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เริ่มต้นเดือนเมษายน ก็พบกับงานของคนชอบรถยนต์ จะถอยใหม่ป้ายแดงทั้งรถเครื่องยนต์สันดาปหรือรถยนต์ไฟฟ้าก็เลือกเอาได้เลยในงาน มอเต...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 25 มี.ค. 2567, 07:58
  • |
  • 75

เอชดีเจ มอเตอร์ ฮุนได เชิญท่านพบงาน MOTOR Sale "โปรปังรับซัมเมอร์ "3-9 เมษา 67 ชั้น G เซ็น...

ขึ้นต้นปีมานี่บ้านเราก็มีงานใหญ่มากมายสำหรับค่ายรถยนต์ ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เริ่มต้นเดือนเมษายน ก็พบกับงานของคนชอบรถยนต์ จะถอยใหม่ป้ายแดงทั้งรถเครื่องยนต์สันดาปหรือรถยนต์ไฟฟ้าก็เลือกเอาได้เลยในงาน มอเต...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 22 มี.ค. 2567, 08:27
  • |
  • 62

เริ่มแล้ววันนี้งาน Chiangmai Auto Motorshow 21-27 มีค 67 ที่ เซ็นทรัลแอร์พอร์ต ( หน้าลิฟท์...

อิตั้นเชียงใหม่ ขอเชิญท่านที่สนใจอยากได้รถยนต์เอาไปใช้งานสักคัน โดยเฉพาะรถหรูที่ตอบโจทย์สำหรับครอบครัว วันนี้เชิญแวะไปชมรถยนต์ของเราได้ที่แอร์พอร์ต บริเวณลิฟท์แก้วใกล้ๆกับสเวนเซ่น ในงานอิตั้น เชียงใหม...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 มี.ค. 2567, 19:04
  • |
  • 63

พบกับงาน Chiangmai Auto Motorshow 21-27 มีค 67 ที่ เซ็นทรัลแอร์พอร์ต ( หน้าลิฟท์แก้ว )

อิตั้นเชียงใหม่ ขอเชิญท่านที่สนใจอยากได้รถยนต์เอาไปใช้งานสักคัน โดยเฉพาะรถหรูที่ตอบโจทย์สำหรับครอบครัว พรุ่งนี้เชิญแวะไปชมรถยนต์ของเราได้ที่แอร์พอร์ต บริเวณลิฟท์แก้วใกล้ๆกับสเวนเซ่น ในงานอิตั้น เชียงใ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 20 มี.ค. 2567, 18:43
  • |
  • 64
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128