นายพิชิตชัย เกลอดู ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิด งานเสวนานวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ Media Innovations Showcase & Forum 2022 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ณ ห้องคอนเวนชั่น 1 – 2 ชั้น 2 โรงแรมวินทรี ซิตี้ รีสอร์ต จ. เชียงใหม่ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565
โดย ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ประธานอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นกองทุนที่ก่อตั้งขึ้นมาจากพระราชบัญญัติมีชื่อว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หรือเรียกชื่อโดยย่อว่า กองทุนพัฒนาสื่อ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2558 จากการร่วมแรงร่วมใจกันจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐ ภาคประชาชน ร่วมมือกันผลักดัน ออกมาเป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้มีงบประมาณให้กับผู้ผลิตสื่อและประชาชนทั่วไปที่มีใจรักอยากผลิตสื่อที่ดี โดยได้รับเงินทุนมาจาก กสทช. มาโดยประมาณ 500 ล้านบาท กองทุนพัฒนาสื่อฯ ได้นำมาจัดสรรให้กับผู้ผลิตสื่อทั่วๆไป รวมไปถึงทุก ๆ คนที่มีใจอยากจะผลิตสื่อดี ๆ ได้มีเงินทุนในการ สร้างสรรค์สื่อ นอกจากการให้ทุนแล้ว กองทุนสื่อฯ ได้มีการจัดตั้งอนุกรรมการย่อยอีกหลายอนุกรรมการ
สำหรับอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ ก่อตั้งขึ้นมาได้ประมาณ 2 ปี ขับเคลื่อนมาเป็นลำดับโดยมีเป้าหมายหรืออำนาจหน้าที่ดังนี้ 1.ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2.ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาและองค์ความรู้เกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 3.ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และรายงานต่อคณะกรรมการกองทุนฯเพื่อทราบแรกเริ่มจากการกำหนดนิยามของนวัตกรรมสื่อจากการประชุมหลายครั้งจึงได้เกิดแนวทาง 9 ข้อ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
1.การพัฒนาคนให้คิดสร้างสรรค์ มีทักษะการเล่าเรื่องผ่านสื่อ การผลิตสื่อ เพื่อสร้างนวัตกรตั้งแต่ระดับเยาวชนไปถึงถึงผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ 2.สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ความรู้เท่าทันสื่อ และการคิดเชิงวิพากษ์ 3.เปิดพื้นที่เพื่อรับฟังความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้ามาย และปัญหาที่ควรแก้ไข เข้าใจชุมชม สังคม วัฒนธรรมที่หลากหลาย 4.สร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งในและต่างประเทศ 5.สร้างโอกาส สร้างความรู้ และการเรียนรู้จากกรณีศึกษาทั้งในและต่างประเทศในการส่งเสริมนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 6.ยกย่องและให้รางวัลแก่ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 7.ส่งเสริมการเผยแพร่ การเข้าถึง การใช้ประโยชน์ และการต่อยอดนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสาธารณประโยชน์ 8.สร้างความรู้ ความเข้าใจ และสนับสนุนการเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนด้านนวัตกรรมสื่อจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ9.ติดตามและประเมินผลการสร้างนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ทั้งนี้ภายในงานมีกิจกรรม Showcase: โครงการ Collab 63: ช่วงที่ 1 โครงการพัฒนานวัตกรทางการสื่อสาร โดย บริษัท เทลสกอร์ จำกัด , โครงการพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อเพิ่มทักษะการรู้เท่าทันสื่อ (The Rumor Villages) โดย ผศ.ภณิดา แก้วกูร พร้อมกับ Showcase: โครงการ Collab 64: ช่วงที่ 2 โครงการ iTop โดย บริษัท โซเชียลแล็บ จำกัด โครงการ เก๋าชนะ โดย บริษัท ทูลมอโร จำกัด การนำเสนอผลงานวิจัย เรื่องที่ 1: โครงการจ้างถอดองค์ความรู้นวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม , การนำเสนอผลงานวิจัย เรื่องที่ 2: โครงการจ้างวิจัยประเมินผลการสร้างนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย ดร.วิโรจน์ สุทธิสีมา
การนำเสนอผลงานการผลิตสื่อเพื่อสื่อสารเรื่องนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผลงาน “ฮาวทูThink” โดย บริษัท เฟรนด์ แอนด์ มานะ จำกัด , การนำเสนอผลงานต่อยอดนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โครงการ Landlab โดย นางสาวกุสุมาวดี กรองทอง การเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ “แนวทางการส่งเสริมนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์” โดย ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต, ผศ.ภณิดา แก้วกูร, นายสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ และนางสาวกุสุมาวดี กรองทอง สุดท้ายมีการ Workshop : ระดมสมองแนวทางการส่งเสริมนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ พร้อมการนำเสนอ: ระดมสมองแนวทางการส่งเสริมนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ เป็นต้น