หากเราจักเปรียบเทียบว่าการเดินเท้าหรือ “การเตียวขึ้นดอย” ขึ้นไปกราบนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ ต้องตั้งขบวนที่วัดศรีโสดา หรือการเดินเท้าขึ้นไปกราบพระพุทธบาทสี่รอยที่สะลวง อำเภอแม่ริม ต้องตั้งต้นที่วัดหนองก๋ายฉันใด
การจักเตียวขึ้นไปสักการะพระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุง ก็จำเป็นต้องตั้งต้นที่วัดศาลาเชิงดอยฉันนั้น ซึ่งจังหวัดเชียงรายได้จัดงานประเพณี “เตียวขึ้นดอย ตวยฮอยครูบาฯ ไหว้สาพระธาตุดอยตุง” เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของครูบาเจ้าศรีวิชัยผู้บูรณะพระธาตุดอยตุงในช่วงเดือนหกเป็ง หรือขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ (เดือน 4 ภาคกลาง) โดยต้องเริ่มขบวนจากวัดศาลาเชิงดอยเดินเท้าขึ้นสู่พระธาตุดอยตุง
วัดศาลาเชิงดอยตั้งอยู่เลขที่ 90 บ้านห้วยไคร้ ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นวัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยใช้เป็นจุดรวมพล หรือจุดนั่งหนักก่อนเคลื่อนขบวนลำเลียงเสบียงวัสดุอุปกรณ์ขึ้นไปบูรณะพระธาตุดอยตุง ปี พ.ศ. 2554 ชาวบ้านที่บ้านห้วยไคร้ได้ไปนิมนต์ครูบาอานันท์ พุทฺธธมฺโม แห่งวัดพระธาตุแสงแก้วมงคล จังหวัดพะเยา ผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาในครูบาเจ้าศรีวิชัย ให้มาเป็นประธานในการจัดสร้างอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าร่างจริง 3 เท่า สล่าผู้ออกแบบปั้นคือ นายสง่า สมฤทธิ์ กำหนดเป็นรูปครูบาเจ้าศรีวิชัยนั่งเก้าอี้ ถือไม้เท้า และพัดขนยูง ใช้เวลาสร้างประมาณ 1 ปี เมื่อสร้างเสร็จครูบาอานันท์ ได้เดินทางมาเป็นประธานบรรจุอัฐิส่วนกะโหลกศีรษะของครูบาเจ้าศรีวิชัย โดยแกะสลักเป็นรูปหัวใจ ไว้ภายในหัวใจของสารูปรูปนี้ มีงานฉลองสมโภช 7 คืน 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 (กำหนดเอาวันนี้เพราะเป็นวันที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพ)
ส่วนวัดพระธาตุดอยตุงตั้งอยู่เลขที่ 399 บ้านห้วยไคร้ใหม่ หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตามตำนานกล่าวถึงการสร้างพระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุงองค์แรกเมื่อ พ.ศ. 1454 บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้าข้างซ้าย) สร้างโดยพระญาอชุตราช กษัตริย์แคว้นโยนก ราชวงศ์ลวจักราช พร้อมกับพระมหากัสสปะ แล้วได้ปักตุงพันวา (ธง) บูชาพระธาตุ ส่วนองค์ที่ 2 ที่ตั้งเคียงคู่กันสร้างเมื่อ พ.ศ. 1554 โดยพระญามังรายะนะราช พร้อมกับพระมหาวชิรโพธิเถร พร้อมกับทำการบูรณะพระธาตุดอยตุงอีกองค์หนึ่งที่สร้างก่อนหน้านี้
พระญากือนา กษัตริย์เชียงใหม่ได้มาสร้างพระเจดีย์ครอบพระธาตุดอยตุงทั้ง 2 องค์ จากนั้นได้มีการบูรณะต่อมาอีกหลายครั้ง จนถึงสมัยพระเมืองเกษเกล้า ดังรูปทรงที่เห็นในปัจจุบัน คือเป็นเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยม ศิลปกรรมล้านนาตอนปลายราวพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งนิยมปรับมุมขององค์ระฆังจากทรงกลมให้กลายเป็นหลายเหลี่ยม
พระธาตุดอยตุงเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีใค้ (กุน) วัดพระธาตุดอยตุงจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 เขต พื้นที่ชั้นบนหรือบนยอดเขาที่ตั้งพระธาตุดอยตุงเป็นเขตพุทธาวาสเรียกว่า “วัดหลวง” ห้ามไม่ให้ทำสิ่งสกปรก เช่น ถ่ายหนักถ่ายเบา จึงไม่มีห้องน้ำไว้ในเขตพื้นที่นี้ ส่วนพื้นที่ชั้นล่างห่างจากประตูวัดชั้นบนลงมาประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นเขตสังฆาวาสมีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาเรียกว่า “วัดน้อย”
พ.ศ. 2470 ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เดินทางมาบูรณะพระธาตุดอยตุงทั้ง 2 องค์ โดยสร้างครอบองค์เดิมให้มีรูปทรงแบบเดิมมีความสูงประมาณ 5 เมตร สร้างวิหารสำหรับไหว้พระธาตุดอยตุง 1 หลัง สร้างพระประธานปูนปั้นภายในวิหาร 1 องค์ ใช้ระยะเวลาในการบูรณะ 4 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2470 - 2474 ค่าใช้จ่ายในการบูรณะทั้งหมดจำนวน 3,205 รูเปีย ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มอบหมายให้กลุ่มลูกศิษย์ทำการบูรณะ และเดินทางมาตรวจดูเป็นระยะๆ ส่วนท่านเดินทางจาริกสัญจรไปตรวจดูการก่อสร้างบูรณะตามที่ต่างๆ ที่ได้มอบหมายไว้ให้ลูกศิษย์ทำ ช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินทางมาบูรณะพระธาตุดอยตุง ได้เดินทางมาตามเส้นทางหมู่บ้านห้วยไร่ ปางสารภี น้ำห้วยไร่ ผ่านท่าน้ำต่างๆ มาถึงพระธาตุดอยตุง 32 ท่าน้ำ
“...ขึ้นไปสร้างพระธาตุสบฝาง แล้วก็เลยไปสร้างดอยตุงเหนือเมืองฝาง แล้วท่านก็กลับมาเชียงราย เลยไปจอมแว่ เลยมาพะเยา...”
เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยถึงแก่มรณภาพเดือนกุมภาพันธ์ 2482 ลูกศิษย์ได้แบ่งอัฐิใส่ผอบมาก่อกู่ไว้ที่ทิศตะวันตกพระธาตุบริเวณวัดน้อย (เขตสังฆาวาส) ต่อมา พ.ศ. 2534 พระครูพิทักษ์ปัจจันตเขต (ผ้าย จนฺทโก) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยตุงในขณะนั้น (พ.ศ. 2524 - 2547) ได้นิมนต์พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ (บุญมา มานิโต) เจ้าคณะอำเภอแม่สาย (พ.ศ. 2524 - ปัจจุบัน) วัดห้วยไคร้ (ภายหลังย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยตุง) เป็นประธานคณะสงฆ์ทำพิธีสวดมนต์ กรวดน้ำแผ่เมตตา ขอขมา และทุบกู่อัฐิเก่าที่ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของพระธาตุบริเวณวัดน้อย และนำผอบทองเหลืองที่บรรจุอัฐิมาบรรจุไว้ใต้ฐานรูปปั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยประดิษฐานอยู่ภายในวิหารหลังเล็ก เป็นรูปปูนปั้นลักษณะกำลังยืนถือไม้เท้า
ภายหลังจากครูบาเจ้าศรีวิชัยได้บูรณะพระธาตุดอยตุงพร้อมปั้นเสือไว้ทั้งสี่มุมขององค์พระธาตุดอยตุง สร้างวิหาร และพระประธานปูนปั้น องค์พระธาตุยังคงมีสภาพปกติแต่หมองคล้ำไป ส่วนวิหารกับพระประธานปูนปั้นได้ถูกภัยธรรมชาติทำให้ชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ใน พ.ศ. 2499 ช่วงครูบาตาคำ โพธิโก เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยตุง (พ.ศ. 2497 - 2513) นางทองคำ ฮั้นตระกูล มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดพะเยา ได้รับเป็นเจ้าภาพลงรักปิดทองพระธาตุดอยตุงทั้ง 2 องค์
พ.ศ. 2500 องค์สรภาณมธุรส (บ๋าวเอง) เจ้าอาวาสวัดสมานัมบริหาร กรุงเทพมหานคร ร่วมกับนางทองคำ ฮั่นตระกูล จังหวัดพะเยา สร้างอุโบสถและพระประธาน พร้อมรูปเคารพหมอชีวกโกมารภัจ
พ.ศ. 2514 - 2516 ช่วงพระมหาดิเรก อนุตฺโร เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยตุง (พ.ศ. 2513 - 2516) มีการปรึกษากันของคณะศรัทธาว่าจะทำการบูรณะพระธาตุดอยตุงครั้งใหญ่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2507 มีการเตรียมการและจัดหาทุนมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2514 พลเอกประภาส จารุเสถียร เป็นประธาน ได้ก่อสร้างครอบเปลี่ยนรูปทรงองค์พระธาตุดอยตุงใหม่เป็นรูปทรงปราสาทยอดระฆัง ออกแบบโดยอาจารย์ประกิต (จิตร) บัวบุศย์ องค์พระธาตุติดประดับด้วยกระเบื้องโมเสคสีทอง มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้านของพระธาตุดอยตุงทั้ง 2 องค์ สร้างฉัตรชั้นเดียวประจำ 4 มุมพระธาตุ และสร้างวิหารหลวงพร้อมพระประธาน (พระเชียงแสนสิงห์หนึ่ง) ได้กราบทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมารเสด็จมาเททองพระประธาน
พ.ศ. 2525 นายไศลยนต์ ศรีสมุทร์ ผู้จัดการตลาดแม่สาย ได้เป็นเจ้าภาพเทลานประทักษิณรอบองค์พระธาตุดอยตุง ขณะเดียวทางวัดพระธาตุดอยตุงได้ก่อสร้างรั้วรอบลานพระธาตุ
พ.ศ. 2549 ได้มีมติร่วมกันให้แกะเอาโครงสร้างพระธาตุรูปทรงปราสาท ที่สร้างครอบองค์พระธาตุดอยตุงเมื่อ พ.ศ. 2514 – 2516 ออก แล้วบูรณะองค์พระธาตุด้านในที่บูรณะสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัย