“นาคทัณฑ์-นาคทันต์” คันทวยล้านนา

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 3 เม.ย. 2565, 22:20

“นาคทัณฑ์-นาคทันต์” คันทวยล้านนา

ในวัฒนธรรมล้านนามีองค์ประกอบสถาปัตยกรรมประเภทหนึ่งที่ใช้รองรับน้ำหนักเครื่องบนของหลังคา ศัพท์ที่ใช้เรียกองค์ประกอบสถาปัตยกรรมนี้เป็นคำที่ทำหน้าที่ตรงกับคำว่า “คันทวย” ในศัพท์ช่างของทางภาคกลาง 

            ทางล้านนาเรียกศัพท์คำนั้นว่า “นาคตัน” บ้างเขียน “นาคะตัน” (ออกเสียง “นาก-ขะ-ตัน”) ลำพังหากหยุดแค่ภาษาพูดก็ไม่ต้องมานั่งวิเคราะห์ ทว่าเวลาถ่ายทอดเป็นภาษาเขียน เกิดความสับสนในเสียงที่อ่านว่า “ตัน” นั้นต้องเขียนด้วย “ทัน” ตัวไหน คือถ้าเขียน “ตัน” ตรงตัวปล่อยทิ้งไว้แบบนั้น ผู้รู้ด้านภาษาล้านนาจะอ่านเป็น “ตั๋น” ฉะนั้นหากต้องการให้อ่านเป็นตัน ก็ต้องเขียนให้เป็นตัว ท.ทหาร

            แล้วจะให้เขียนอย่างไรเล่า “นาคทัณฑ์” หรือ “นาคทันต์” ? อันความสับสนในด้านการเขียนนี้ ย่อมหนุนเนื่องมาจากความสับสนเรื่องการตีความรากศัพท์นั่นเอง 

นิยามแห่ง “คันทวย”

            ก่อนจะวิเคราะห์ถึงคำว่า “นาคทันต์-นาคทัณฑ์” ควรรู้จักกับคำว่า “คันทวย” ที่มีความหมายเดียวกันก่อน พจนานุกรมศัพท์ช่างศิลปกรรมอธิบายว่า “คันทวย” เป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมประเภท “ไม้ค้ำยัน” ตามแนวเฉียงระหว่าง “เสา” กับ “ปลายเต้า” ด้านสุดชายคาของอาคารทางศาสนาหรือพระราชวัง เพื่อใช้ยันไม่ให้ปลายเต้าอ่อนตัวลงมา องค์ประกอบของคันทวย แบ่งออกเป็นสามส่วน 

            ส่วนแรก คือส่วนหัวบนสุดที่รองรับ "เต้า" - หมายถึงส่วนโครงสร้างชายคายื่นออกมาจากผนัง จะต่อตรงมาจากขื่อภายในหรือเป็นตัวไม้ของชายคาปีกนกที่วางในทางราบ ฝากปลายไว้กับผนังและมีค้ำยันหรือทวยรองรับอีกด้านหนึ่งก็ได้ 

            ส่วนที่สอง คือส่วนกลาง เป็นส่วนไม้โค้งยาวทอดเลื้อยลงมา มักใส่ลายประจำยามเป็นสัญลักษณ์ ส่วนนี้เป็นลำตัวพญานาคที่ต่อเชื่อมมาจากส่วนหัวและตอนปลายเว้าเข้า

            ส่วนที่สาม คือส่วนท้ายหรือส่วนล่าง เป็นตัวที่ติดกับผนังหรือเสา มักสลักเป็นเศียรนาคหรือบางแห่งอาจสลักเป็นเทพนมแต่พบไม่บ่อยเท่านาค  

            ที่มาของคำว่า “คันทวย” นักปราชญ์สันนิษฐานว่า การที่คันทวยติดตั้งไว้ตอนบนของเสาให้เอนขึ้นไปรับน้ำหนักชายคา (เต้า) ทำให้องค์ประกอบสถาปัตยกรรมชิ้นนี้มีความยาว คล้ายกับ "คันถือของกระบวยตักน้ำ” ซึ่งแนวทางนี้เชื่อว่าเกิดจากการเรียกว่า “คันบวย” ต่อมาเรียกตัดคำและเสียงให้เคลื่อนคล้อย จาก "คันบวย" กลายมาเป็น "คันทวย" หรือเรียก "ทวย" ในที่สุด

            อีกทฤษฎีหนึ่ง สันนิษฐานว่าน่าจะมีรากศัพท์มาจากคำว่า "ระทวย" ที่แปลว่า แอ่น งอน อนึ่ง มีการนำคำว่า “ระทวย” หรือ “ระรวย” ที่แปลว่าอ่อนโค้งไปใช้กับอีกคำศัพท์หนึ่งขององค์ประกอบสถาปัตยกรรม นั่นคือคำว่า “รวยระกา” หมายถึงส่วนที่เป็น “นาคลำยอง” ของกรอบหน้าบัน

            ยังมีอีกคำศัพท์หนึ่งที่ใช้เรียกแทน “คันทวย” ได้ คือคำว่า "ท้าวแขน" ในสถาปัตยกรรมของประเทศลาวและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็เรียกคันทวยว่า “แขนนาง” เช่นกัน นามทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นภาพของนางรำแขนอ่อนอ้อนแอ้นระทดระทวยอย่างชัดเจน

รูปลักษณ์คันทวยในล้านนา

            แผ่นไม้ที่ทำเป็น “คันทวย” ของอุโบสถวิหารในวัฒนธรรมล้านนา ไม่ได้มีรูปร่างบางโปร่ง เหมือนท่อนแขนนางรำที่่อ่อนระทวยนวยนาดยื่นขึ้นรับชายคาเหมือนกับวัฒนธรรมของสยาม หากแต่ทำเป็นรูปนาคขดงอในแผ่นไม้ที่มีรูปทรง “สามเหลี่ยม” เป็นแผ่นทึบตันไม่เน้นการฉลุลายโปร่งให้ทะลุหลัง ทำให้มีศัพท์แบบบ้านๆ ที่ใช้เรียกคันทวยล้านนาอีกสองคำ นั่นคือ  "หูช้าง" กับ “หย่างค้ำ” เมื่อคนภาคกลางทราบว่าคนล้านนาเรียกคันทวยว่า “หูช้าง” ก็เติมคำว่าทวยนำหน้าไปอีกคำ เพื่อความเข้าใจของตน กลายเป็น “ทวยหูช้าง” ส่วน “หย่างค้ำ” (อ่านหย่างก๊ำ) คำว่า “หย่าง” ก็คือ “แหย่ง/หยั่ง” หมายถึงขาแท่น/บัลลังก์ ทำหน้าที่ช่วยค้ำยันผนังอาคารกับหลังคาไว้ไม่ให้แยกออกจากกัน ชาวล้านนาใช้คำว่า “หย่างค้ำ” สำหรับสิ่งก่อสร้างที่ใช้วัสดุไม่คงทน เช่น เรือนไม้ ศาลา กุฏิ โดยแยกประเภทของอาคารออกจากกลุ่มของพระวิหารพระอุโบสถ ที่ต้องใช้คำว่า “หูช้าง” และหากมีการตกแต่งอย่างงดงามก็จะเรียกว่า  “นาคทัณฑ์-นาคทันต์” 

 “นาคทัณฑ์” นาคถูกใครลงทัณฑ์?

            การที่นักวิชาการด้านโบราณคดีเลือกใช้คำว่า “นาคทัณฑ์” นั้น สืบเนื่องมาจากแผ่นค้ำยันในล้านนามักทำเป็นรูป “นาคตัวบิดงอแยกเขี้ยว ทำท่าคล้ายว่าเจ็บปวดจากการถูกลงทัณฑ์” บางแผ่นก็เป็นรูป “นาคหลายตัวเกี่ยวกระหวัดรัดเหวี่ยงไปมา เหมือนกับกำลังดิ้นรนอยู่ในบ่วงบาป” 

            ผู้รู้ของกรมศิลปากรอธิบายว่า การลงทัณฑ์นาค เป็นฉากที่คัดย่อมาจากตำนานของฮินดูตอนทำพิธี "กวนเกษียรสมุทร" เพื่อให้ได้น้ำอมฤตทิพย์มาดื่มกินสร้างความเป็นอมตะแก่ปวงเทวา โดยต้องให้พญานาควาสุกรี (มี 5 เศียร) ใช้ลำตัวมาเป็นเสมือนเชือก รัดพันรอบภูเขามันทระ (เขาพระสุเมรุ) แล้วทั้งเทวดาและอสูรต่างช่วยกันยุดนาคคนละฟาก ช่วงขณะหนึ่งของการทำพิธี ภูเขามันทระเกิดเอียงทรุดตัว ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องแปลงกายเป็นเต่าแหวกว่ายลงไปในมหาสมุทรเพื่อหนุนเขามันทระให้ตั้งตรงเหมือนเดิม ระหว่างนี้ส่งผลให้น้ำทะเลปั่นป่วน บางตำนานว่านาคได้คายน้ำพิษออกมา ซึ่งน้ำพิษนี้หากปล่อยให้แพร่กระจายออกไปจะเกิดอันตรายแก่โลก 

            พระวิษณุต้องอวตารเป็นพระกฤษณะเพื่อปิดช่องภูเขาที่รั่ว และกลืนกินน้ำพิษที่เกิดขึ้น ทำพระศอพระกฤษณะเป็นสีดำ หลังจากนั้นจึงมีการลงทัณฑ์นาคที่พยายามคายพิษ จากจุด “ไคลแมกซ์” แห่งการคายพิษของนาคนี่เอง  ทำให้ถูกลงทัณฑ์ต้องไปทำหน้าที่แบกรับเขาพระสุเมรุ เป็นที่มาของทำรูปนาคตัวบิดงอขดหางรองรับหลังคาศาสนสถาน เช่นเดียวกับนาคทัณฑ์บางแผ่นทำเป็นนาคหลายเศียรเกี่ยวกระหวัดไปมา ก็คือภาพจำลองของนาควาสุกรีที่ถูกอสูรกับเทพยื้อยุดจนเกิดอาการพัลวันพัลเก

            หรือหากไม่เกี่ยวข้องใดๆ เลยกับเรื่องการกวนเกษียรสมุทร โดยปรกตินาคก็เป็นหนึ่งในสัตว์ที่อยู่เชิงผาหิมพานต์ก็ย่อมมีหน้าที่แบกรับเขาพระสุเมรุเช่นเดียวกับสัตว์อื่นๆ อยู่แล้ว ดังเช่นศิลปกรรมที่มีการทำรูปครุฑแบก ยักษ์แบก สิงห์แบก ส่วนนาคแบกนั้นไม่ได้เอาไว้ที่ช่องเชิงฐานสถูปหรือฐานวิหารเหมือนสัตว์อื่นๆ กลับถูกกระจายหน้าที่โยกย้ายที่ทางให้ขึ้นไปรองรับชั้นหลังคา แต่ทั้งหมดก็คือเรื่องราวเดียวกัน นั่นคือการให้สัตว์พื้นเมืองทำหน้าที่แบกรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ต่างไปจากเทพปกรณัมของกรีกที่มี Atlas ทำหน้าที่แบกโลก อันเป็นที่มาของการเชื่อว่าน่าจะเขียนว่า “นาคทัณฑ์”

“นาคทันต์” คืองาช้าง ข้อบัญญัติจากพระวินัยปิฎก?

            ฝ่ายที่ยืนยันว่า “นาคะตัน” ต้องเขียนด้วย “ทันต์” ที่แปลว่าฟัน เขี้ยว หรืองา นั้นส่วนใหญ่จะเป็นปราชญ์ด้านศาสนาและนักภาษาวรรณกรรมชาวล้านนา โดยอธิบายคำว่า “นาคทันต์” เมื่ออ่านเป็นภาษาเมืองจะออกเสียงว่า “นาก-ขะ-ตัน” ในขณะที่ “นาคทัณฑ์” จะออกเสียงเป็น “นาก-ขะ-ตัน-ด๊ะ” คือตัว ฑ.มณโฑ แม้ใส่การันต์ ก็ยังต้องออกเสียงตัว ด๊ะ เบาๆ เพื่อแยกความแตกต่างให้รู้ว่าคำนี้มาจาก “ทัณฑ์” ไม่ใช่ “ทันต์”

            นอกจากเสียงอ่านที่แตกต่างกันแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านพระไตรปิฎกในล้านนายังอธิบายว่า รากศัพท์ดั้งเดิมของ “นาคทันต์” มาจากคำว่า “มกรทันต” (มะ-กะ-ระ-ทัน-ตะ) หรือ มกรทันต์ เป็นภาษาบาลี มาจากคำสองคำคือ มกร + ทันต์

            มกรเป็นสัตว์ผสมระหว่างสัตว์น้ำ สัตว์บก และสัตว์ปีก คือลำตัวคล้ายจระเข้เหรา มีงวงมีงาเหมือนช้าง และมีปีกบินได้เหมือนหงส์ ชาวอินเดียนิยมนำ “มกร” มาใช้ตกแต่งลวดลายในงานศิลปกรรม จนสืบทอดมาสู่วัฒนธรรมอุษาคเนย์ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 

            หลังจากนั้นเมื่อคนไทเผ่าต่างๆ ขึ้นมามีอำนาจแทนขอมมอญ ความนิยมในการทำ “มกร” ค่อยๆ ลดน้อยลงจนหายไป ชาวสยามทั้งสุโขทัย อยุธยา ล้านนา ต่างหันมาใช้ “นาค” (ไม่ใช่นาคแบบขอมหรือทวารวดีโบราณ แต่เป็นนาคที่มีส่วนผสมของตัว “ลวง” หรือ “เล้ง” จากจีน-สิบสองปันนา ซึ่งประยุกต์บางส่วนมาจากมกรด้วยเช่นกัน) แทน ทำให้เกิดการเปลี่ยนคำเรียกจาก “มกรทันต์” กลายมาเป็น “นาคทันต์” 

            “มกรทันต์” - “นาคทันต์” คืออะไร หากแปลตรงตัวก็หมายถึง ฟันของมกร เขี้ยวของนาค แต่ในทางศัพท์บาลี คำว่า มกระก็ดี นาคะก็ดี ยังอาจหมายถึง “ช้าง” อีกด้วย ดังนั้น ทั้ง “มกรทันต์” - “นาคทันต์” จึงอาจแปลได้ว่า “งาช้าง” ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งสามเหลี่ยม ใช้ปักหรือค้ำยันเพื่อให้เกิดความมั่นคง

            คำว่า “มกรทันต์” ผู้รู้กล่าวว่าปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม 7 ที่่ว่าด้วยพระวินัยปิฎก หมวดจุลลวัคค์ (จุลวรรค) ภาค 2 ที่กล่าวถึงหมวดย่อยเรื่อง “เสนาสนะขันธกะ” (เสนาสนขันธกะ) อันเป็นหมวดว่าด้วยเรื่องการก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับพระภิกษุ รวมทั้งการถวายทานกุฏิ วิหารของฝ่ายฆราวาสที่มีศรัทธาต่อพระภิกษุรูปต่างๆ 

            อนึ่ง การสร้างเสนาสนะในพุทธศาสนา ไม่ใช่ว่าจะสร้างได้ตามใจชอบ ต้องมีแบบแผนกฎเกณฑ์ค่อนข้างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแบ่งแยกพระภิกษุที่มาจากวรรณะต่างๆ ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างศักดิ์ จนเกิดปมด้อยปมเด่นข่มกัน

            ที่อยู่อาศัยของพระภิกษุควรดูงดงามเรียบร้อยเสมอกัน จึงได้ปรากฏข้อบัญญัติดังกล่าว เป็นพุทธานุญาตว่าพระภิกษุสามารถอาศัยอยู่ภายในอาคาร 5 ประเภทดังนี้ 1. วิหาร (กุฏิปกติ) 2. เพิง (อัฑฒโยคะ) 3. เรือนเป็นชั้นๆ (ปราสาท) 4. เรือนโล้น (หลังคาตัด – หัมมิยะ) ภาษาล้านนาเรียก วิหารหลังเปียง 5. ถ้ำ หรือคูหา 

            ต่อมาได้มีเศรษฐีหรือบรรดาเชื้อพระวงศ์จำนวนมากที่มีความประสงค์จะสร้างที่อยู่ถวายแด่พระสงฆ์ของพระบรมศาสดา อันเป็นที่มาของการกำหนดข้อบังคับไว้มากมายเพื่อป้องกันคำครหา หรือความไม่เหมาะสมแก่ฐานานุรูปของเพศบรรพชิต ทำให้ต้องมีการระบุข้อควรมี-ไม่ควรมี เรื่องรายละเอียดปลีกย่อยในส่วนของ หน้าต่าง ประตู ผ้าม่าน ผ้าปูเตียง ลิ่มสลัก ลูกกรง ในกรณีของผนังรองรับหลังคาสามารถมี “มกรทันต์” คือแผ่นสามเหลี่ยม คล้ายงาช้าง (หรือที่คนไทยเรียก “หูช้าง”) ประดับได้แค่พองาม

            ปราชญ์ล้านนาหลายท่านจึงเชื่อว่า “นาคทันต์” น่าจะเป็นคำที่ถูกต้อง เพราะแผลงมาจาก “มกรทันต์” ซึ่งมีปรากฏอยู่ในพระวินัยปิฎกนั่นเอง

            สรุปได้ว่า ศัพท์สองคำมีที่มาและคำอธิบายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง “นาคทัณฑ์” - “นาค” คือเนื้อหาที่อยู่ภายในกรอบสามเหลี่ยม โดยฝ่ายนี้มองว่ารูปตัวละครในวรรณกรรมอื่นๆ เช่นกินรี หนุมาน นั้นเป็นการประยุกต์มาทำขึ้นภายหลัง ส่วน “นาคทันต์”- “นาค” ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหา แต่เป็นรากศัพท์ที่แปลได้ว่า “งาช้าง-เขี้ยวนาค” หรือกรอบสามเหลี่ยม ดังนั้นนาคในความหมายหลังนี้ ค่อนข้างเป็น “นามธรรม” มากกว่า “รูปธรรม” ไม่ว่านิยามความหมายใดจะถูกหรือผิดก็ตาม ผู้เขียนพยายามเสนอสองมุมมองของคำสองคำที่แตกต่างกันนี้ เพื่อให้ผู้อ่านช่วยกันพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดต่อไป

3

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เหลืออีกสองวัน Lanna Auto Sale 18-25 ธันวา 67 ที่เซ็นทรัลเ แอร์พอร์ต รถไฟฟ้าน่าใช้ราคาน่าต...

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ใช้คนเมืองมากขึ้นทุกวัน ตามท้องถนนในเชียงใหม่ทุกวันนี้รถที่ขับไปขับมาสังเกตุดูได้เลยต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าชับสวนมาหรือขับตามเรามาหลากหลายรุ่น นั่นแสดงถึงรถ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 ธ.ค. 2567, 13:13
  • |
  • 76

อีซูซุ ศาลา เชียงใหม่ จัด ISUZU 2.2 Ddi MAXFORCE พลังแรง ท้าลอง ในศูนย์ประชุมนานาชาติเชียง...

ใกล้สิ้นปีหลายค่ายรถยนต์จัดงานอีเว้นท์กันตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะค่ายอีซูซุที่มีรถยนต์ออกใหม่ทั้งเครื่องยนต์ใหม่ แรงขึ้น เร็วขึ้น วันนี้เราพาท่านไปเที่ยวชมงานนี้กันซึ่งจัดขึ้นภายในศูนย์ประชุมนานาชาติเชี...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 22 ธ.ค. 2567, 16:33
  • |
  • 94

ส่งมอบรถหรูไปอีกหนึ่งคัน ฟอร์ด 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B )

ส่งมอบรถหรูน่าใช้ให้กับลูกค้า  ฟอร์ด วีกรุ๊ปคาร์เชียงใหม่โดยที่ปรึกษาการขาย ศรสวรรค์  ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถยนต์ให้กับคุณ ชนากานต์ แซ่หล่อ รุ่นรถ 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B)ข...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 ธ.ค. 2567, 11:43
  • |
  • 77

ส่งมอบรถหรูไปอีกหนึ่งคัน ฟอร์ด Double Cab XLS 2.0L Turbo HR 6AT

ส่งมอบรถหรูน่าใช้ให้กับลูกค้า  ฟอร์ด วีกรุ๊ปคาร์เชียงใหม่โดยที่ปรึกษาการขาย พนิตสิรี  ปัญญาวชิรธรรม    ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถยนต์ให้กับ คุณ รังสรรค์ มะสุรินฟอร์ด Double Cab...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 ธ.ค. 2567, 11:37
  • |
  • 69

ส่งมอบรถหรูไปอีกหนึ่งคัน ฟอร์ด Double Cab Wildtrak 2.0L Turbo HR 6AT

ส่งมอบรถหรูน่าใช้ให้กับลูกค้า  ฟอร์ด วีกรุ๊ปคาร์เชียงใหม่   โดยที่ปรึกษาการขาย ดวงพร กิ่งจำปา ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้า คุณ นพเก้า มาสุวรรณ Ford Double Cab Wildtrak 2.0L...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 ธ.ค. 2567, 11:31
  • |
  • 84

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai PALISADE Prestige สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณฉัตรพล สุนทรไพบูลย์ (เจ้าของห้างทองอินทรีทอง กาดหลวง) Hyundai PALISADE Prestige สีขาว ขอขอบคุณที่ให...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 19 ธ.ค. 2567, 16:54
  • |
  • 86
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128