ศักดิ์สิทธิ์แห่ง “ซุ้มโขง”

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 19 เม.ย. 2565, 20:23

ศักดิ์สิทธิ์แห่ง “ซุ้มโขง”

สัญลักษณ์ของจังหวัดลำพูนคือเจดีย์ทรงระฆังล้านนาแบบองค์พระธาตุหริภุญไชยฉันใด ลำปางก็มี “ซุ้มโขง” เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองฉันนั้น ไม่มีข้อกังขาสำหรับองค์พระบรมธาตุหริภุญไชย มหาสถูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวลำพูน แต่ทว่า “ซุ้มโขง” นั้นเล่าสำคัญไฉน ยิ่งใหญ่และควรค่าปานใดจึงได้รับการประทับให้เป็นตราจังหวัด ทั้งๆ ที่ลำปางก็มีมหาสถูปทรงระฆัง ดังเช่นที่วัดพระธาตุลำปางหลวง หรือที่วัดพระแก้วดอนเต้าด้วยเช่นกัน

            นั่นย่อมแสดงว่า “ซุ้มโขง”ในลำปางจักต้องมีความพิเศษ โดดเด่น และศักดิ์สิทธิ์ไม่ยิ่งหย่อนเลยทีเดียว แน่นอน เพราะลำปางเป็นจังหวัดเดียวในภาคเหนือที่ยังคงเหลือ “ซุ้มโขง” รุ่นเก่าที่สมบูรณ์แบบที่สุด จำนวนมากที่สุด และมีความวิจิตรแพรวพรายมากที่สุด

            “ซุ้มโขง” คืออะไร คำๆ นี้อาจไม่ค่อยคุ้นหูคุ้นตาคนไทยภาคอื่นเท่าใดนัก ดีไม่ดีอาจชวนให้จินตนาการไปต่างๆ นานาว่า ฤๅซุ้มโขงจะเกี่ยวข้องอะไรไหมกับ แม่น้ำโขง หรือจระเข้ (ตะเข้ตะโขง)?

            เปล่าเลย คำว่า “โขง” ในที่นี้ แม้จะมีผู้สันนิษฐานกันมากมายหลายกระแส จนยังไม่มีข้อข้อยุติชัดเจน แต่รับรองว่าสิ่งที่จะพรรณนาต่อไปนี้ ต้องมีข้อใดข้อหนึ่งหรือผสมกันหลายข้อ ที่เป็นคำอธิบายที่เชื่อถือได้อย่างแน่นอน ลองมาดูกันว่า “โขง” ควรหมายถึงอะไร?

            · บ้างก็ว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “โค้ง” ของศัพท์ทางภาคกลาง เพราะรูปลักษณ์ของมันเป็นประตูที่วางอิฐแบบก่อซุ้มโค้ง (Arch)

            · บางท่านเห็นว่า อาจกร่อนมาจากคำว่า “โข” หรือ “อักโข/อักโขภิณี” ที่แปลว่าใหญ่โตมโหฬาร สอดคล้องกับประตูขนาดมหึมาที่ตั้งอยู่ทางเข้าด้านหน้าวัด

            · นักภาษาถิ่นล้านนาจำนวนมาก เสนอว่าน่าจะแผลงมาจากคำว่า “โขลง” ซึ่งกร่อนมาจาก “กลวง” หมายถึงช่องที่ทะลุผ่านได้ 

            · นักภาษาและวรรณกรรม ตั้งข้อสังเกตว่า “โขง” คำนี้ มักพบว่าใช้คู่กับคำว่า “เขต” บางครั้งลดรูปเป็น “เขตขง-ขงเขต” “เขตโขง-โขงเขต” ดังที่ปรากฏในโคลงนิราศหริภุญไชย ซึ่งกวีพรรณนาเมื่อมาถึงหมุดหมายของวัดแต่ละแห่ง มักพบซุ้มประตูใหญ่ ที่เรียกว่า “เขตโขง” (โขงเขต) อันเป็นการเตือนบอกว่าเราได้เดินทางมาถึง “เขตศาสนสถาน” แล้ว 

            สรุปได้ว่า การเรียกประตูทางเข้าขนาดใหญ่ว่า “ประตูโขง” หรือ “ซุ้มโขง” นี้  มีนัยยะมาจากคำอธิบายหลายๆ กระแสผสมกัน ซึ่งปราชญ์ท้องถิ่นได้ช่วยกันประมวลความเห็นให้เกิดการแตกหน่อออกกอทางปัญญา ให้เห็นภาพรวมว่า ซุ้มโขงเป็นทั้งซุ้มประตูขนาดใหญ่ (โข) มีการก่อช่องเป็นวงโค้ง (Arch) สามารถเดินทะลุผ่าน (โขลง/กลวง) ทั้งยังเป็นเครื่องหมายบอกเขตอาณาบริเวณของศาสนสถาน (ขงเขต-เขตขง) อีกด้วย

            แล้วซุ้มโขงแห่งเขลางค์นคร (นครลำปาง) มีจุดเด่นอันใดเล่า ถึงกับได้รับการยกย่องให้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำนคร?

            ลักษณะเด่นของ “ซุ้มโขง” อยู่ที่การจงใจแสดงความอลังการของหลังคาชั้นบนซึ่งตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นอย่างวิลิศมาหรา โดดเด่นหรูหราเสียจนดูแปลกตาแหวกแนวฉีกตัวออกมาจากลุ่มอาคารอื่นๆ อาทิ องค์สถูป วิหาร อุโบสถ หอไตร กุฏิ ศาลา มณฑป ซึ่งอาคารทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่นำเสนอให้เห็นถึงจิตวิญญาณแบบชาวพุทธแท้ๆ คือความสงบรำงับเรียบง่าย ผิดกับแรงปะทะทางผัสสะที่เรารับรู้ได้ทันทีที่พินิจมองซุ้มโขงในแวบแรก จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดเลย หากผู้ผ่านพบมักตั้งคำถามว่า

            “ซุ้มประตูแท่งนี้คืออะไรกันแน่? ไยจึงได้กลิ่นอายของเทวาลัยฮินดู หรือปราสาทขอม?”

            หากใครเคยรู้สึกเช่นนี้ก็ถือว่าท่านมีจักษุประสาทที่ลึกซึ้งยิ่ง เพราะปูมหลังความเป็นมาของ “ซุ้มโขง” นั้นมีเส้นทางเดินที่ผิดแผกแตกต่างไปคนละทิศละทางจากสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาชิ้นอื่นๆ โดยสิ้นเชิง

            อันที่จริง “ซุ้มโขง” ก็คือร่องรอยของการรับเอาอิทธิพลในการทำ “โคปุระ” (บางเล่มใช้ “โคปุรัม/โฆปุระ”) ซุ้มประตูทางเข้าศาสนสถานขนาดใหญ่ของวัฒนธรรมอินเดียและขอมโบราณมาใช้ในวัดทางภาคเหนืออย่างแยบยลนั่นเอง

            หากจะกล่าวแบบฟันธงว่า “โคปุระในฉบับภารตะ” เป็นคตินิยมของลัทธิพราหมณ์เสียทั้งหมดก็ไม่อาจถูกต้องนัก เพราะในยุคพระเจ้าอโศกมหาราชก็เคยนิยมสร้างโคปุระ ในแบบฉบับที่เรียกว่า “โตรณะ” เป็นซุ้มประตูขนาดใหญ่ที่บริเวณทางเข้าสู่ลานประทักษิณ ณ สถูปสาญจีมาแล้ว เพียงแต่ว่ารูปทรงของซุ้มโขงในดินแดนล้านนานั้นละม้ายประพิมพ์ประพายไปทางโคปุระในศาสนสถานฮินดูของอินเดียทางตอนใต้ (ของชาวทมิฬ-โจฬะ) มากกว่าที่จะคล้ายคลึงกับโตรณะของศาสนาพุทธ

            โตรณะของวัดในพุทธศาสนาเป็นอย่างไร ช่างจะแกะสลักหินเป็นรูปเสาสองแท่งแล้วมีขื่อวางพาดตามขวางคล้ายกับรั้วเป็นชั้นๆ ราว 3-4 ชั้น มีการแกะสลักลวดลายเป็นรูปยักษิณีเหนี่ยวกิ่งไม้ หรือรูปการเสพสังวาสของชายหญิงเป็นคู่ๆ บนแผ่นเสาและคานพาดเหล่านั้น อันเป็นการสะท้อนเรื่องราวทางกามภพ คล้ายกับเป็น “ประตูวัดใจ” สาธุชนว่า ยังจะเหลือรอยอาลัยต่อกิเลสกามอยู่อีกหรือไม่ หากข้ามไม่พ้นซุ้มประตูโลกียะแผ่นนี้ ก็ย่อมสาละวนระเริงรมย์อยู่กับการเยี่ยมยลภาพสลักแนวอีโรติกอย่างเตลิดเหลิง คงยากที่จะละสายตาแล้วก้าวข้ามไปสู่ดินแดนโลกุตระได้

              ในขณะที่ โคปุระของลัทธิฮินดูที่แพร่หลายในหมู่ชาวอินเดียใต้และอาณาจักรขอมในราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-17 นั้น กลับนิยมก่อหลังคาของซุ้มประตูเป็นยอดสูงขึ้นไปเป็นกองหินก้อนมหึมาคล้ายภูเขาเลากา จนบางแห่งดูเหมือนว่าตัวโคปุระจะดูใหญ่โตมโหฬาร เป็นปราการที่ดูน่าสะพรึงกลัว จนบางครั้งโคปุระเหล่านี้ได้กดข่มองค์เทวาลัยที่ตั้งอยู่ภายในรั้วระเบียงหรือกำแพงให้ดูเล็กและด้อยลงไปถนัดใจ ดังเช่นเทวสถานที่เมืองตันชอว์ในอินเดียของชาวทมิฬ หลังคาขนาดยักษ์ของโคปุระเหล่านี้หาใช่สักแต่ว่าก่อให้สูงตระหง่านขึ้นไปอย่างเลื่อนลอยโดยไร้ที่มาที่ไปไม่ ทว่ามันมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ซ่อนอยู่

            ความหมายของโคปุระในศาสนาฮินดู ซึ่งส่งทอดแนวความคิดมาจนถึงที่ปราสาทขอมก็ดี หรือซุ้มโขงในวัฒนธรรมล้านนาก็ดีนั้น หมายถึง การจำลองเอาคติจักรวาลมาสร้าง โดยเชื่อว่า องค์พระเจดีย์ (หรือเทวาลัย) ประธานที่อยู่ตอนกลางภายในระเบียงคตนั้น คือยอดเขาพระสุเมรุ (หรือเขาไกรลาส) อันเป็นที่ประทับของพระศิวะ ซึ่งมีจำนวน 5 ยอด ดังนั้น ซุ้มโขงทั้งสี่ทิศนี้จึงทำหน้าที่คล้ายดั่งยอดเขาบริวารที่รายล้อมเขาประธานยอดกลาง

            สิ่งที่น่าสนใจคือ โดยปกติแล้วเขาพระสุเมรุจักตั้งอยู่ท่ามกลางมหานทีสีทันดร ในกรณีของวัดทางภาคเหนือ สถาปนิกใช้สัญลักษณ์ของห้วงทะเลด้วยการโรยทรายล้อมรอบองค์พระเจดีย์เต็มพื้นที่ภายในกำแพงวัด และแทนค่าอนุทวีปทั้งสี่ที่ตั้งรายล้อมชมพูทวีปด้วยอาคารต่างๆ สี่หลังโดยมากเป็นวิหาร น่าเสียดายยิ่งที่ปัจจุบันผืนทรายเหล่านี้ได้ถูกกลบทับด้วยพื้นคอนกรีต คงเหลืออยู่เพียงแค่ไม่กี่วัดเท่านั้นในลำปาง 

            ปัญหาที่น่าตั้งคำถามตามมาก็คือ ซุ้มโขงแบบฮินดูเข้ามาแทรกปนในดินแดนล้านนาซึ่งดูเหมือนว่าเคร่งครัดในบวรพุทธศาสนาอย่างลึกล้ำได้อย่างไร?

            คำตอบนี้จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจถึงระบบคิดของสังคมล้านนาให้ถ่องแท้เสียก่อน ว่าพื้นฐานความเชื่อดั้งเดิมของชาวเหนือนั้นค่อนข้างผูกติดอยู่กับการบูชาผีบรรพบุรุษอย่างเหนียวแน่น ดังที่เราคุ้นหูกับคำว่า แถน ผี ขึด ฯลฯ

            กลิ่นอายของวัฒนธรรมฮินดูที่โชยชายผ่านซุ้มโขงอย่างรุนแรงในวัฒนธรรมล้านนานั้น จึงมิใช่ภาพที่ดูขัดแย้งหรือสักแต่ว่ารับเอาองค์ประกอบสถาปัตย์ชิ้นงามเข้ามาตกแต่ง อีกทั้งมิได้เป็นสัญญาณว่าอาณาจักรล้านนาเคยตกอยู่ภายใต้อำนาจขอม หากแต่ก่อนยุคล้านนานั้น เคยมีอาณาจักรโบราณที่ร่วมสมัยกับขอมมาก่อนนั่นคือ อาณาจักรหริภุญไชย

            ซุ้มโขงหรือ “โคปุระฉบับล้านนา” เป็นภาพสะท้อนว่า นี่คือหลืบเสี้ยวหนึ่งของความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ของชาวล้านนาที่ฝังอยู่ในส่วนลึก ทว่าถูกบดบังกดข่มไว้ภายใต้กระแสสำนึกของคำว่า “พุทธะ”

            คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ดิฉันฟังว่า เมื่อก่อนนี้ คนจะต้องเข้าวัดด้วยการลอดผ่านซุ้มประตูโขงเท่านั้น (ไม่ใช่เข้าทางช่องกำแพงที่เจาะขยายกว้างแบบปัจจุบัน) เพราะซุ้มโขงมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ ก่อนจะก้าวผ่านซุ้ม “ประตูวัดใจ” จากโลกียะสู่โลกุตระนั้น คนล้านนาโบราณจักพึมพำๆ พูดกับตัวเองในใจว่า “ขอฝากผีปู่ย่าให้นั่งรอบนวิมานปราสาทที่ซุ้มโขงนี้ก่อนนะ เดี๋ยวลูกหลานจักต้องเข้าไปทำบุญในฐานะพุทธศาสนิกชน” เป็นการบอกกล่าวต่อวิญญาณบรรพชนของพวกเขาที่เคยนับถือศาสนาผี ว่าพวกเขาจักเข้าไปทำบุญแล้วขอให้ผีปู่ย่าคอยรอรับส่วนบุญที่นี่ ด้วยการฟังเสียงระฆังที่ตี

            ด้วยเหตุนี้ การประดับประดาตกแต่งส่วนยอดของซุ้มโขงจึงเต็มไปด้วย “บัลลังก์วิมาน” ประหนึ่งเขาพระสุเมรุ ซึ่งตีนเขาเต็มไปด้วยสัตว์หิมพานต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดพระธาตุลำปางหลวง และวัดไหล่หินหลวง เหนือซุ้มโค้งเต็มไปด้วยนาค ตัวลวง กิเลน มกร (ครึ่งช้างครึ่งจระเข้) หงส์ สิงห์ คชสีห์ กินนร กินรี 

            ถามว่า ซุ้มโขงที่เก่าแก่ที่สุดในดินแดนล้านนาพบที่ไหน คำตอบคือที่วัดพระธาตุหริภุญไชย หลายท่านอาจเห็นแย้ง เถียงว่าไม่จริง เนื่องจากซุ้มโขงที่วัดพระธาตุหริภุญไชยดูค่อนข้างใหม่ เหตุที่การบูรณะในยุคหลังๆ ไม่อนุรักษ์เนื้อปูนปั้นโบราณตามวัสดุดั้งเดิม แต่กลับทาด้วยน้ำปูนสีขาว จึงทำให้ดูใหม่กว่าที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ทว่าในความเป็นจริงนั้น โครงสร้างของซุ้มโขงที่วัดพระธาตุหริภุญไชยมีรูปแบบศิลปะที่โบราณกว่า เป็นโครงสร้างแบบเดียวกันกับสถาปัตยกรรมของ “พระบรมธาตุไชยา” ศิลปะศรีวิชัย กล่าวคือมี “สถูปิกะ” (เจดีย์จำลอง ชาวล้านนาเรียก ธาตุน้อย) ประดับตามมุมชั้นเรือนธาตุย่อมุมแต่ละชั้น 

            ในขณะที่โครงสร้างซุ้มโขงของวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งสร้างสมัยล้านนายุคทอง รับอิทธิพลมาจากซุ้มโขงของวัดพระธาตุหริภุญไชย แล้วนำมาปรับปรุง ตัดสถูปิกะทิ้งไป ทำหลังคายืดสูงขึ้น มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีการย่อมุมตัวเสาทั้งสี่ด้าน ตกแต่งบัวหัวเสาแบบอลังการมากขึ้น ทำให้ซุ้มโขงของวัดพระธาตุลำปางหลวงดูคลาสสิกกว่าที่วัดพระธาตุหริภุญไชย จนทำให้หลายท่านเข้าใจว่าซุ้มโขงของวัดพระธาตุลำปางหลวงน่าจะเป็นต้นแบบและเก่าแก่ที่สุดในล้านนา

            ใต้ซุ้มโค้งเหนือกรอบประตูซุ้มโขงในสกุลช่างลำปาง ทำเป็นรูปวงกลมมีรัศมีรายรอบ หมายถึงจักรวาล โลกตั้งอยู่เป็นศูนย์กลางระหว่างพระจันทร์ พระอาทิตย์ นอกเหนือไปจากที่วัดพระธาตุลำปางหลวง และวัดไหล่หินหลวง (ทั้งคู่อยู่อำเภอเกาะคา) แล้ว ซุ้มโขงที่น่าสนใจของสกุลช่างลำปางยังมีที่ วัดป่าตันหลวง (วัดพระเจ้าไม้แก่นจันทน์) อำเภอแม่ทะ วัดเวียง อำเภอเถิน รวมไปถึงซุ้มโขงรุ่นหลังๆ ที่ไม่เก่ามากนักได้แก่ วัดปงสนุก และวัดประตูป่อง อำเภอเมือง เป็นต้น

            ที่กู่เจ้าย่าสุตตาราม ใกล้วัดประตูต้นผึ้ง ชุมชนท่ามะโอ หลายคนเข้าใจผิดคิดว่านี่คือ กู่อัฐิ หรือซากเจดีย์ ซากมณฑป แท้จริงแล้วที่นี่คือ “ซุ้มประตูโขง” ด้วยเช่นกัน หาใช่มณฑปโขงพระเจ้าที่ครั้งหนึ่งคยอยู่ในวิหารไม่ (มณฑปประดิษฐานพระพุทธรูป) เพียงแต่ว่าเครื่องยอดตอนบนหักพังไปหมดแล้ว จึงเหลือแต่ช่องโค้งตอนล่าง ลักษณะคล้ายกับซากประตูโขงที่เหลือแต่เครื่องล่างที่วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ ซึ่งก็สร้างในสมัยล้านนาเช่นเดียวกัน ในเชียงใหม่นี้ยังมีซุ้มโขงที่บูรณะใหม่โดยครูบาเจ้าศรีวิชัยอยู่ที่วัดสวนดอก นอกจากนี้แล้วประตูเข้าสู่ลานประทักษิณของพระเจดีย์วัดสวนดอกยังมีการสร้าง “โตรณะ” ประชิดองค์พระเจดีย์ คล้ายโตรณะโบราณแบบสถูปอินเดียที่สาญจีอีกด้วย 

40

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARIA Style สีเทา เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณกรณ์กาญจน์ สุทธะป๊อก Hyundai STARIA Style สีเทา ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรายละ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 25 เม.ย. 2567, 15:26
  • |
  • 36

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai Creta Style Plus สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณทักษิณานันท์ ดอนชัย Hyundai Creta Style Plus สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรา...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 เม.ย. 2567, 18:27
  • |
  • 41

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai Creta Smart สีบรอนเงิน เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณมาลี ชัยอุปละHyundai Creta Smart สีบรอนเงิน ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรายละเอีย...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 13 เม.ย. 2567, 07:30
  • |
  • 79

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai H-1 Elite FE สีขาว รถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ บจก.เอส ดี เมดิคอล เซอร์วิสเซส Hyundai H-1 Elite FE สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถา...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 7 เม.ย. 2567, 14:11
  • |
  • 75

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARGAZER X สีขาว รถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณภิญญดา มาศรีHyundai STARGAZER X สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรายละเอียดของรถ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 7 เม.ย. 2567, 14:00
  • |
  • 83

โค้งสุดท้ายแล้วงาน MOTOR Sale โปรปัง "รับซัมเมอร์"3-9 เมษา 67 ลานโปรโมชั่น ชั้น G เซ็นทรัล...

เป็นการตัดสินใจของท่านเองล้วนๆในการเลือกซื้อรถยนต์ งานแสดงรถยนต์ สำหรับผู้ที่กำลังมองหารถยนต์เอาไปใช้สักคัน พลาดไม่ได้ต้องไปที่งาน มอเตอร์เซลส์ โปรปังรับซัมเมอร์ ระหว่างวันที่ 3-9 เมษายน 67 เรามาพบกัน...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 6 เม.ย. 2567, 10:24
  • |
  • 103
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128